นักวิจัยพบ “ไวรัสโคโรนา” มีพฤติกรรมทำลายภูมิคุ้มกันเหมือน HIV
นักวิจัยในจีนและสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ ในลักษณะเดียวกับที่พบในผู้ป่วย HIV โดยไวรัสจะเข้าทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค
ลูลู จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น กรุงเซี่ยงไฮ้ และเจียงซื่อป๋อ จากศูนย์โลหิตนิวยอร์ก ได้ทดลองรวมเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 เข้ากับเซลล์ไลน์ที่เรียกว่า “ที ลิมโฟไซต์” (T lymphocyte) หรือ “ทีเซลล์” (T cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยนำเอาเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสมาเจาะรูบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ และฉีดสารเคมีเข้าไปในเซลล์ สารเคมีเหล่านี้ฆ่าทั้งเชื้อไวรัสและเซลล์ที่ติดเชื้อ โดยทำให้เซลล์แตกเป็นชิ้นๆ และจากการทดลองครั้งนี้ ทีเซลล์ก็กลายเป็นหนูทดลองกับเชื้อไวรัสโคโรนาในที่สุด
นักวิจัยทั้งสองพบโครงสร้างพิเศษในแท่งโปรตีนที่ยื่นออกมาจากไวรัส ซึ่งเป็นโครงสร้างที่กระตุ้นการรวมตัวกันของเปลือกหุ้มไวรัสและเยื่อหุ้มเซลล์ เมื่อทั้งคู่สัมผัสกัน จากนั้น พันธุกรรมไวรัสก็จะเข้ายึดทีเซลล์ และทำให้ทีเซลล์หยุดการทำหน้าที่ป้องกันร่างกาย อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองกับเชื้อไวรัสซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาอีกสายพันธุ์หนึ่ง ไวรัสซาร์สกลับไม่ได้มีความสามารถในการทำให้ทีเซลล์ติดเชื้อ
แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาลของรัฐในกรุงปักกิ่งผู้หนึ่ง ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการเพิ่มหลักฐานเกี่ยวกับความกังวลในวงการแพทย์ ที่ว่าไวรัสโคโรนามีพฤติกรรมที่เหมือนกับเชื้อไวรัสที่มุ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะเชื้อ HIV
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เฉิน หยงเหวิน และผู้ร่วมวิจัยในสถาบันภูมิคุ้มกันวิทยา ได้เปิดเผยรายงานทางคลินิก ที่ระบุว่าจำนวนของทีเซลล์ในผู้ป่วย COVID-19 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ยิ่งจำนวนทีเซลล์ต่ำลง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ข้อสังเกตดังกล่าวได้รับการยืนยันในภายหลัง จากการชันสูตรศพของผู้ติดเชื้อ 20 คน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายเกือบหมด และแพทย์ที่ได้เห็นร่างของผู้เสียชีวิตระบุว่าความเสียหายของอวัยวะภายในนั้นคล้ายกับผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์สผสมกับโรคเอดส์
พันธุกรรมที่อยู่เบื้องหลังความสามารถในการรวมตัวของเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 ไม่ได้ถูกพบในเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นที่อยู่ในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ แต่เชื้อไวรัสในร่างกายมนุษย์ เช่น โรคเอดส์หรืออีโบลา จะมีลำดับที่คล้ายคลึงกัน จึงอาจมองได้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อาจจะแพร่กระจายอย่างเงียบๆ ในสังคมมนุษย์เป็นเวลานาน ก่อนที่จะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า ยังมีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 และเชื้อ HIV นั่นคือ เชื้อ HIV สามารถแบ่งตัวภายในทีเซลล์และเปลี่ยนทีเซลล์ให้กลายเป็นโรงงานผลิตเชื้อไวรัส เพื่อแพร่เชื้อไปสู่เซลล์อื่นๆ ในขณะที่ยังไม่มีการค้นพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเติบโตหลังจากที่เข้ายึดทีเซลล์ นั่นหมายความว่าเชื้อไวรัสและทีเซลล์อาจจะตายไปพร้อมกัน
การศึกษาดังกล่าวนี้นำไปสู่คำถามใหม่มากมาย เช่น ไวรัสโคโรนาสามารถมีชีวิตอยู่หลายสัปดาห์ในร่างกายมนุษย์โดยที่ไม่มีอาการหรือไม่ ส่วนวิธีการที่ไวรัสมีปฏิสัมพันธ์กับทีเซลล์ในร่างกายผู้ป่วยนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ในขณะที่ผู้ป่วยวิกฤตบางคนต้องเผชิญกับภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่แข็งแรง แต่ก็ยังไม่อาจทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดเชื้อไวรัสโคโรนาจึงกระตุ้นปฏิกิริยานี้ และกระตุ้นได้อย่างไร