คลังไขปริศนา ทำไมไม่แจกเงินเยียวยา 5,000 ทุกบ้าน
ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการด้านการคลัง
รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.10 - 14.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (14 เม.ย.) "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" เปิดใจสัมภาษณ์ "สมคิด จิรานันตรัตน์" ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และ "ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการด้านการคลัง กรณีเงินเยียวยาจากรัฐบาลจำนวน 5,000 บาทที่กำลังมีปัญหา
หลายคนถามว่าทำไมต้องลงทะเบียน 5,000 จ่ายทุกคนได้มั้ย?
ชาญกฤช : "มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐขอปิดกิจการชั่วคราวตอนไวรัสแพร่ระบาด ฉะนั้น 3 กลุ่มหลัก คือผู้ประกันตนตามมาตร 39 40 และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมใดๆ เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐบาล"
ถ้าไม่กระทบก็ไม่ควรได้?
ชาญกฤช : "จริงๆ พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากโควิด แต่จากการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการต่างๆ ชั่วคราว กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทันที"
ตอนนี้ช่วยคนได้รับผลกระทบตรงก่อน ก็มีข้อกังขา ว่าเขาก็กระทบ ทำไมไม่ให้ อย่างแรกคือเกษตรกร ทำไมไม่ได้?
ชาญกฤช : "รัฐบาลไทยมีการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องกลุ่มเกษตรกรต่อเนื่อง ฉะนั้นระบบที่สวัสดิการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องกลุ่มเกษตรกรประเภทต่างๆ เป็นการลงทะเบียนเป็นครอบครัว ซึ่งมีการอัปเดตปีละ 1 ครั้ง"
แปลว่าคนที่ไม่ได้ เขาอาจอยู่ในครอบครัวเกษตรกร โดยที่ตัวเขาไม่ใช่เกษตรกร?
ชาญกฤช : "ใช่ วิธีการลงทะเบียนคือผู้นำครอบครัวจะมาลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการระบุด้วยว่าสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ช่วยเกษตรกรมีใครบ้าง"
ถ้าพ่อลงทะเบียนแต่ลูกไม่ได้เป็น คนอื่นก็เลยไม่ได้ไปด้วย?
ชาญกฤช : "ถูกต้องครับ ปรับทุกปีครับ"
อีกพวกหนึ่ง เขาเป็นเกษตรกร เขาทำนาแต่ไม่ได้ทำทั้งปี พอไม่ได้ทำนาก็มาขับแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเขาก็แย่ แต่เขาไม่ได้ เขาควรจะได้ไม่ใช่เหรอ?
ชาญกฤช : "อันนี้ก็เข้าใจครับ เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังรับมาเพื่อพัฒนาปรับปรุง ช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องที่มีอาชีพเสริมตรงจุดนี้ในภายภาคหน้าครับ"
หลายคนเป็นนักศึกษา บางคนเรียนป.โททำงานด้วยและได้รับผลกระทบ บางคนเรียนป.ตรีทำงานหาเงินเอง ซึ่งได้รับผลกระทบ พอลงทะเบียนก็ไม่ได้ เขาบอกเขาไม่มีรายได้?
ชาญกฤช : "เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ท่านอุตตมก็รับฟังมา และไม่ได้นิ่งนอนใจ คิดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องที่มีอาชีพเสริมตรงจุดนี้และขาดรายได้"
บางคนบ่นว่าเขาจบไปนานแล้ว ยังให้เขาเป็นนักศึกษา ไม่ช่วยอะไรเขา ข้อมูลไม่อัปเดตหรือเปล่า?
ชาญกฤช : "เราก็มีการวิเคราะห์นะครับ บางทีอาจเป็นเพราะว่าพี่น้องเวลาลงทะเบียน เวลาเขากรอกไป เรามีการเชื่อมต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการในกรณีดังกล่าว อาจเป็นกรณีที่ว่าผู้ลงทะเบียนเคยศึกษาต่อ ไม่ว่าจะภาคค่ำ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หลังจากจบมาแล้วอาจผันตัวเป็นผู้ประกอบการอิสระ และไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลรัฐบาล ฉะนั้นข้อมูลที่อยู่ในระบบคุณก็ยังเป็นนักศึกษาอยู่"
พอมาทำอาชีพไม่เสียภาษี มันเลยอยู่ในระบบเดิม?
ชาญกฤช : "อาจจะ"
บางคนบอกว่าเขาถูกนิยามเป็นผู้ประกอบการ ทั้งที่เขาไม่ใช่ผู้ประกอบการ?
ชาญกฤช : "วิธีการประมวลผลเราใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ความท้าทายของประเทศไทย รัฐบาลไทยในการเข้ามาช่วยเยียวยา คือเราต้องการเยียวยากลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในสาระบบกลุ่มแรกเลย ยกตัวอย่างผู้ที่ไม่ได้ประกันตนทั้งหลาย มีหลายล้านคน ความท้าทายถัดมาคือเราไม่มีฐานข้อมูลใดๆ กลุ่มนี้มาก่อน ฉะนั้นการที่พี่น้องป้อนข้อมูลเป็นครั้งแรก และการใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผล อาจมีข้อมูลที่สับสนในช่วงแรกนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องวิตกไป หากลงทะเบียนมาข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงและถูกปฏิเสธไป สามารถยื่นอุทธรณ์เข้ามา"
กระทรวงการคลังยอมรับมั้ยในระบบที่ประมวล มีข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไข?
ชาญกฤช : "ผมไม่เรียกว่าผิดพลาด แต่ข้อมูลที่เข้ามามันจำกัดเกินไป สำหรับเอไอในการประมวลผล ถ้าให้มันทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด คุณอาจต้องกรอกข้อมูลจำนวนเยอะกว่านี้ รวมถึงอาจมีภาพและเหตุการณ์ประกอบเข้ามาอีกมากมาย และใช้เวลาในการประมวลผลนานกว่านี้เยอะ"
ถามคุณสมคิด คนลงทะเบียนบ่นเหลือเกินว่า AI วิเคราะห์ผิดถูกมากมาย?
สมคิด : "ผมว่ามันขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราใส่ให้กับมัน ใส่วิธีการที่เข้มข้น เช่นตาข่ายกรองเข้มข้นมาก ก็จะเกิดจากเหตุการณ์ที่เห็น คือบางคนถูกกรองก่อน อยากเสนอว่าการกรองบางอย่างต้องลดความเข้มข้นลง เช่นแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มัคคุเทศก์ พวกนี้เรายืนยันในฐานะข้อมูลได้อยู่แล้วว่าเขาประกอบอาชีพนี้จริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปตรวจว่าเขาเป็นเกษตรกรหรือเปล่า แต่เขาต้องยอมรับว่าหากเขาได้สิทธินี้แล้ว เขาต้องยินดีสละสิทธิ์เงินชดเชยของเกษตรกรกลุ่มนั้นด้วย"
ผู้ประกอบการที่กำลังมีปัญหาใหญ่หลวงอยู่ตอนนี้ จะแก้ยังไง?
สมคิด : "ผมว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างที่เขาใส่เข้ามาว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะตีความว่าเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเงื่อนไขนี้น่าจะผ่อนปรนได้"
แหเราถี่ไป?
สมคิด : "บางเรื่องครับ ผมคิดว่าคลังเขาคิดละเอียดมากในการกรองเรื่องนี้ เพราะเขาไม่อยากพลาดเลย"
คำถามเชิงบ่นในโซเชียล คนขายล็อตเตอรี่เขาบอกว่าได้รับผลกระทบ แต่ระบบหลังตรวจสอบ บอกว่าเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบ?
ชาญกฤช : "ถ้ามีข้อผิดพลาดนี้เกิดขึ้น สถานการณ์นี้ขอแนะนำให้ไปอุทธรณ์ในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันดอทคอม ซึ่งปุ่มอุทธรณ์นี้ในเว็บไซต์ พร้อมให้ผู้ลงทะเบียนเข้ามาแก้ไข ปรับปรุงข้อมูลสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป"
คนขายล็อตเตอรี่ก็ยังมีโอกาส?
ชาญกฤช : "มีโอกาสครับ"
ขับวินมอเตอร์ไซค์กับคนลงทะเบียน กลายเป็นไม่มีฐานข้อมูลใดๆ เลย?
สมคิด : "วินมอเตอร์ไซค์จะมีข้อมูลบางส่วนที่ตรวจสอบได้ และคิดว่าอาจมีบางส่วนที่ไม่มีข้อมูลภายในระบบ ก็อย่างที่ท่านชาญกฤชพูดว่าต้องมาอุทธรณ์ และอุทธรณ์เราจะขอข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น ข้อมูลตรงนี้จะพิจารณาว่าเขาควรได้หรือไม่ควรได้ แล้วผมเชื่อว่ากระทรวงการคลัง รัฐบาลเอง เท่าที่สัมผัสมา อยากให้มากเลย แต่ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดมา อาจต้องไปปรับเพื่อให้เงินถึงประชาชนเร็วที่สุด"
ขอข้อมูลละเอียดมากขึ้นคืออะไร?
สมคิด : "คือข้อมูลพิจารณาว่าใครได้รับผลกระทบหรือไม่ ผมเชื่อว่ามันต้องลงรายละเอียดมากขึ้น อย่างเช่นคนลงว่ารับจ้างทำความสะอาด รับจ้างทั่วไป ถ้าคุณรับจ้างทำความสะอาดที่บ้าน คุณไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคุณก็ได้เงินเดือนเหมือนเดิม แต่ถ้าคุณทำความสะอาดที่บริษัท อันนี้อาจได้รับผลกระทบ"
เรียนกศน. ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย อย่างนี้จะเรียกอาชีพอิสระหรือนักศึกษา?
ชาญกฤช : "อย่างที่ผมเรียน กระทรวงการคลังมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าเกิดผู้ลงทะเบียนมีการเรียนต่อในปัจจุบันและมีการไปขอกยศ. มันก็อาจสะท้อนกลับมาว่า บุคคลดังกล่าวยังคงสถานะเป็นนักเรียนนักศึกษา"
คนกู้เงินกยศ. ไว้สำหรับเรียน แต่เขาก็หาเงินเลี้ยงดูตัวเอง จะเอายังไงดี?
ชาญกฤช : "อย่างที่ทราบ ตอนนี้คลังรับทราบปัญหากลุ่มพี่น้องแล้ว ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีอุตตมได้สั่งการให้ไปศึกษาหาวิธีการช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีการทำงานพาร์ทไทม์ตรงนี้เพิ่มเติมด้วยครับ"
ขับแท็กซี่ไปลงทะเบียนแต่ไม่ได้ เพราะข้อมูลบอกว่าเป็นเกษตรกร?
ชาญกฤช : "เพราะเวลารัฐบาลให้เงินชดเชยจะให้ทางใดทางหนึ่ง กรณีนี้อุทธรณ์ได้ครับแต่ถ้าเขาได้เงิน 5,000 บาท เขาก็จะไม่ได้ชดเชยในส่วนเกษตรกร รับซ้อนกันไม่ได้ครับ"
รับ 5,000 ได้ทีละเดือน แต่เห็นว่าถ้าเกษตรกรได้รับทีเดียวเลย?
ชาญกฤช : "ก็ต้องเลือกครับ เป็นนโยบายทางภาครัฐบาลครับ"
ร้านเสริมสวยถูกปิด แต่พอไปลงทะเบียน บอกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ เลยไม่ได้?
ชาญกฤช : "สบายใจได้ ถ้าผู้ลงทะเบียนเข้าเกณฑ์ที่ผมระบุมา มายื่นลงทะเบียน ถ้าได้รับ sms บอกว่าไม่เข้าเกณฑ์อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจไป รอสัปดาห์หน้า เข้าเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันใหม่ เราไม่ได้ปฏิเสธทันทีครับ"
ค้าขายอยู่กับบ้าน มีใบประกอบการพาณิชย์ถูกต้อง แต่อีท่าไหน ระบบไปบอกว่าเป็นเกษตรกร?
ชาญกฤช : "หลายๆ กรณีที่บอกว่าตกอยู่ในถังเกษตรกร ก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน สามารถอุทธรณ์ได้ มันมีข้อมูลเดิมซ้อนกันอยู่ครับ"
อีกกรณี เขาบอกอายุ 53 ไปลงทะเบียน เขาถูกปฏิเสธ บอกว่าเป็นนักศึกษา?
สมคิด : "ผมว่าอันนี้ก็เช่นเดียวกัน มันอยู่ในตะแกรงร่อน เวลาตรวจสอบข้อมูลศึกษาธิการ เขาจะมีข้อมูลทั้งหมดเลย ว่าใครกำลังเป็นนักศึกษาอยู่ เช่น เขาอาจเป็นนักศึกษานอกระบบและไม่ได้ถอดข้อมูลนั้นออก เพราะเขายังไม่ได้จบการศึกษา ลักษณะแบบนี้ก็อยู่ที่สถานะข้อมูล เป็นไปได้ว่าสถานะนั้นยังไม่ได้ปลดออก"
มาถึงเวลาถ่างแห เขาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่กล่าวหาเขาเป็นเกษตรกร ต้องให้ข้อมูลอะไร?
สมคิด : "ชอบคำว่าถ่างแหของอาจารย์มาก (หัวเราะ) นึกภาพออกว่าต้องมีเงื่อนไขบางอย่างให้หลุดออกไปได้ อย่างคุณขับแท็กซี่ รับสิทธิ์ตรงนี้ หรือจะรับสิทธิ์เกษตรกร เขาต้องยืนยันสิทธิ์ แต่อย่างกรณีเป็นสีเทา ต้องถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อดูว่าเขาอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบกับโควิด เช่น ทำความสะอาดต้องระบุให้ชัดเจน ว่าสังกัดบริษัทหรือบ้าน อาชีพอย่างอื่นก็เหมือนกัน ต้องถ่างให้ชัดเจนเพื่อให้หลุดออกมา คำถามที่ต้องถาม กรณีอุทธรณ์ มีความสำคัญมาก"
ยังยืนยันว่าไม่ช่วยซ้ำซ้อนให้เลือกเอา?
ชาญกฤช : "ยืนยันครับ มาตรการใดที่ได้รับการช่วยเยียวยาไปแล้ว ผู้ลงทะเบียนก็จะไม่ได้สิทธิ์ในมาตรการอื่นๆ ที่จะออกมาในภายภาคหน้าครับ"
ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะทำให้เขาได้รับการกลั่นกรองไม่ผิดพลาด คืออะไร?
สมคิด : "เรามีวิธีการให้เขากรอกรายละเอียดชัดเจน ว่าเขาซื้อขายอะไรบ้างสถานที่อยู่ตรงไหน รายได้ตกลงยังไง ถ้าถามรายละเอียดแบบนี้ ผมว่าการพิจารณาของคอมพิวเตอร์ง่ายมากเลย"
มีโอกาสที่จะแจกก่อนแล้วสอยทีหลัง?
ชาญกฤช : "ต้องเข้าใจนิดนึงว่าการใช้เงินในการช่วยเหลือเยียวยาผ่านมาตรการใดก็ตามแต่ เป็นการใช้เงินภาษีพี่น้องประชาชน โดยหลักการของราชการต้องมีสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดินที่เข้ามาตรวจสอบด้วย ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ ตรงตามเป้าหมาย ตามที่คาดหวังไว้หรือเปล่า ก็ขอความเห็นใจว่าเราไม่สามารถให้ทีเดียวแล้วมาตรวจสอบ ใครไม่ตรงแล้วดึงกลับ"
ยึดคืนมั้ย?
ชาญกฤช : "ถ้าคนกรอกข้อมูลเท็จยึดคืนครับ"
ถ้าคนอุทธรณ์ไม่เป็น เขาตกหล่น ทำยังไง?
ชาญกฤช : "สำหรับพี่น้องไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือมือถือต่อสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมแนะนำให้โทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ธนาคารกรุงไทย เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เขาลงทะเบียนหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่พนักงานให้เขากรอกให้ได้ แต่ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้มาที่สาขากรุงไทยมากนัก เพราะไม่อยากให้มารวมตัวกันมาก เพื่อสกัดกั้นพิษโควิด-19"