ลุงตู่ แจงเงินเยียวยา 5,000 รัฐบาลมีจ่ายแค่เดือนเดียว! ส่วนที่เหลือต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้
วันนี้ (15 เม.ย.) เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์
โดยช่วงหนึ่งของการแถลง นายกฯ เอ่ยถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า
"...วันนี้เราจำเป็นต้องใช้เงินหลายส่วนด้วยกัน อันแรกต้องเสนอ พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คาดว่าน่าจะใช้เงินส่วนนี้ราวเดือน มิ.ย.นี้ ประมาณ 1 แสนล้านบาท
ส่วนที่สองคือเงินที่จะได้จากการกู้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีเงินซักบาทเลย แต่คาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ปลาย เม.ย. หรือในเดือน พ.ค.-มิ.ย.
ส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำไปบริหารจัดการในระบบการเงิน
เมื่อถามว่าตอนนี้เราใช้เงินตรงไหนอยู่ วันนี้เราใช้จ่ายเงินรายจ่ายจากงบกลางปี 63 ซึ่งมีวงเงินอยู่ประมาณ 5 หมื่นกว่าล้าน ครอบคลุมการใช้จ่ายเยียวยา 5,000 บาท แค่เดือนเดียวนะครับ เพราะฉะนั้นเดือนที่ 2 เดือนที่ 3 ผมก็ต้องรอเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ตรงโน้น ถือเป็นภาระผูกพันของรัฐบาลในวันข้างหน้า
กราบเรียนย้ำอีกครั้ง เรามีเม็ดเงินที่จะดูแลได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อน ที่เหลือต้องรอ พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ที่จะออกมา"
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอธิบายถึงจำนวนตัวเลขประชาชน 3 ล้านคน ที่ในช่วงแรกมีข่าวว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้ในจำนวนนั้นว่า ไม่ใช่โควตาแต่อย่างใด แต่เป็นการคิดคำนวณจากเม็ดเงินที่มีอยู่
หลังจากนั้น เมื่อรับฟังได้ว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอยู่หลายกลุ่มหลายฝ่าย จึงมีความจำเป็นต้องขยายการให้ความช่วยเหลือจาก 3 ล้านคน มาเป็น 9 ล้านคน ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลต้องไปตรวจสอบดูว่าจะหาเงินจากตรงไหนมาให้ แม้จะมีบางคนเร่งเข้ามา แต่ตนก็ยังไม่รู้จะเอาเงินจากตรงไหนมาโอนให้เหมือนกัน คงต้องรอสักระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ลุงตู่ ยังย้ำในระหว่างแถลงข่าวว่า ทราบดีถึงความสับสนอลหม่านจากนโยบายจ่ายเงินชดเชยเยียวยา 5,000 บาท ตนจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกันใหม่ให้ตรงกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
โดยมีการพิจารณาฐานข้อมูลจากกระทรวงแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 37 ล้านคน จากจำนวนประชากรกว่า 60 ล้าน มีแรงงานที่อยู่ในระบบ 37 ล้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน แรงงานในระบบอีก 11 ล้านคน และเกษตรกรอีก 17 ล้านคน รวมทั้งยังต้องพิจารณาบรรดานักเรียนนิสิตนักศึกษาอีกว่ามีการทำงานด้วยหรือไม่ เพราะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ระบุไว้
ทั้งนี้ การจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 5,000 บาท ที่มีผู้ไปลงทะเบียนไว้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com แล้วกว่า 27 ล้านคนนั้น จริงๆ แล้วเป้าหมายหลักที่จะได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้คือ กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน ส่วนแรงงานในระบบ 11 ล้านคนนั้น จะใช้เงินกองทุนประกันสังคมราว 2 แสนล้านบาทเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ขณะที่เกษตรกรที่มีอยู่ 17 ล้านคน รัฐบาลกำลังเร่งพิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือ
ในช่วงท้ายของการแถลง นายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง ดังนั้นขอให้ทุกคนรอมาตรการให้ความช่วยเหลือระยะต่อไปของรัฐบาล ที่จะให้ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มให้มากที่สุด โดยการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน