“ปัญหาการเงินของครอบครัว” ทำเด็กไทยกังวลที่สุดในช่วง “โควิด-19”
ในขณะที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจึงมีการประกาศใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรค ควบคู่ไปกับการเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ “เด็กและเยาวชน” กลับหายไปในขั้นตอนของการแก้ไขปัญหา ดังนั้น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, UNICEF, UNDP และ UNFPA จึงได้ทำการสำรวจผลกระทบและความต้องการของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลเร่งด่วนให้กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้แก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน
เด็กและเยาวชนไทยในช่วงโควิด-19
ผลการสำรวจระบุว่า เด็กและเยาวชนเกือบทั้งหมดมีความรู้และความใจเรื่องการป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยครึ่งหนึ่งคิดว่าตัวเองมีโอกาสติดเชื้อ ในด้านความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือ เด็กและเยาวชนร้อยละ 56 ชี้ว่า มีใช้บ้างแต่ไม่เพียงพอสำหรับทุกคนในครอบครัว ในขณะที่ร้อยละ 6.5 บอกว่าไม่มีเลย และหากแยกตามภาค จะพบว่าเด็กและเยาวชนในภาคเหนือและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือกลุ่มที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรคใช้มากที่สุด
แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการปิดโรงเรียนและงดออกจากบ้าน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่ร้อยละ 28 บอกว่า ไม่ได้พึงพอใจกับเวลาที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เด็กและเยาวชนร้อยละ 30 กลับรู้สึกพอใจ กิจกรรมที่ทำมากที่สุด คือ กิจกรรมออนไลน์ เช่น การดูภาพยนตร์ออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เล่นเกมออนไลน์ และทำงานบ้าน
ผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชน
ผลกระทบและความกังวลใจที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กและเยาวชนเกิดขึ้นใน 2 ระดับ คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวเอง และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในวงกว้าง โดยปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นความกังวลใจหลักของเด็กและเยาวชน
ความกังวลใจของเด็กและเยาวชนร้อยละ 80.74 คือเรื่องปัญหาการเงินของครอบครัว รองลงมาเป็นเรื่องการเรียนและการสอบ (ร้อยละ 53.98) กังวลว่าคนใกล้ตัวหรือตัวเองจะติดไวรัส (ร้อยละ 52.55) กังวลเรื่องโอกาสในการศึกษาต่อ (ร้อยละ 47.82) และมีความเครียดจากการต้องอยู่แต่ในบ้าน (46.27) ขณะที่ร้อยละ 84.66 ชี้ว่า ผลกระทบและความกังวลใจในวงกว้างคือเรื่องของสถานะทางการเงินของครอบครัวที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
เด็กและเยาวชนก็ต้องการการเยียวยาจากรัฐ
จากการสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนได้สะท้อนความต้องการที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐเช่นกัน เช่น การช่วยเหลือเรื่องค่าเทอม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องแผนการเรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะสอบเรียนต่อหรือเรียนจบ
นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาเรื่องความเครียดและสุขภาพจิต เด็กและเยาวชนก็ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถจัดการความกังวลใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยการสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนไม่มีความรู้หรือไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อจัดการความเครียด รวมถึงการเข้าถึงบริการที่สามารถขอรับคำปรึกษาได้