หมอสหรัฐฯ พบ “ไวรัสโคโรนา” ทำลายไตและหัวใจ

หมอสหรัฐฯ พบ “ไวรัสโคโรนา” ทำลายไตและหัวใจ

หมอสหรัฐฯ พบ “ไวรัสโคโรนา” ทำลายไตและหัวใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ต้นเหตุของโรค COVID-19 นั้น เป็นเชื้อไวรัสที่โจมตีระบบทางเดินหายใจ แต่จากหลักฐานที่เหล่าแพทย์ฝ่ายรักษาทั่วโลกค้นพบ ชี้ให้เห็นว่าไวรัสยังก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคไตเฉียบพลัน ระบบประสาททำงานผิดปกติ เลือดแข็งตัว ลำไส้เสียหาย และอาการเกี่ยวกับตับ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้การรักษาโรค COVID-19 มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น และมีโอกาสในการฟื้นตัวไม่แน่นอน

อลัน คลิเกอร์ นักวักกวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีเลือดหรือโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะ แสดงให้เห็นถึงความเสียหายในระยะแรกของไต และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ มีข้อมูลระบุว่า 14 – 30% ของผู้ป่วยในห้องไอซียูในนิวยอร์กและอู่ฮั่น ประเทศจีน มีอาการไตไม่ทำงาน และจำเป็นต้องใช้ไตเทียม รวมทั้งมีการบำบัดหลังจากเปลี่ยนไตอย่างต่อเนื่อง ส่วนในนิวยอร์กก็มีผู้ป่วยที่ต้องรักษาอาการไตล้มเหลวในห้องไอซียูเป็นจำนวนมาก และต้องประกาศหาผู้บริจาคไตจากทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยเหล่านี้

จากรายงานของนักวิทยาศาสตร์ในเมืองอู่ฮั่น ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Kidney International เมื่อวันที่ 9 เมษายน นักวิจัยได้ชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรค COVID-19 และพบว่า 9 จาก 26 คน มีอาการบาดเจ็บเฉียบพลันบริเวณไต และอีก 7 คน มีอนุภาคของเชื้อไวรัสโคโรนาในไต

“หลักฐานดังกล่าวนำไปสู่ข้อสงสัยที่ชัดเจนว่า อาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่เกิดขึ้นในไตเป็นผลโดยตรงมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งแตกต่างจากโรคซาร์ส ที่ระบาดเมื่อปี 2002” พอล ปาเลฟสกี นักวักกวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ และประธานมูลนิธิไตแห่งชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์กับ The Independent ระบุว่า ท่ามกลางการระบาดใหญ่ครั้งนี้ นักวิจัยกลับมีข้อมูลน้อยมากจนไม่สามารถนำมาหาข้อสรุปในทางคลินิกได้

นอกจากนี้ ไวรัสโคโรนายังอาจส่งผลกระทบต่อหัวใจด้วย โดยแพทย์ฝ่ายรักษาในจีนและนิวยอร์กรายงานว่าพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในผู้ป่วยโรค COVID-19 และที่อันตรายกว่านั้น คือจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นได้

นักวิจัยค้นพบว่า ในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยโรค COVID-19 จะมีปรากฏการณ์ “พายุไซโตไคน์” (Cytokine Storm) ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ต่อสู้กับเชื้อโรคทำหน้าที่รุนแรงกว่าปกติ การตอบสนองที่ไม่มีการควบคุมนี้นำไปสู่การปล่อยสารที่เรียกว่าไซโตไคน์ (cytokine) ที่เมื่อมีมากไปก็อาจจะทำลายอวัยวะหลายส่วน โดยแพทย์พบว่าผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการหนักบางคนมีไซโตไคน์ที่เร่งการอักเสบ ที่เรียกว่า “อินเตอร์ลิวคิน-6” หรือ IL-6

เจฟฟรีย์ เวเบอร์ รองผู้อำนวยการศูนย์ Perlmutter Cancer Centre ศูนย์การแพทย์แลงกอน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วย COVID-19 พายุไซโตไคน์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุให้พายุไซโตไคน์จึงเกิดในผู้ป่วยบางคนเท่านั้น ซึ่งแพทย์กล่าวว่า พันธุกรรมน่าจะมีบทบาทในเรื่องนี้

ส่วนการรักษาอาการของพายุไซโตไคน์นั้น แพทย์บางคนจะใช้ยาต้าน IL-6 เช่น โทซิลิซูแมบ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอาการของพายุไซโตไคน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการรักษาด้วยการก่อภูมิคุ้มกัน

อันตรายของไวรัสโคโรนาอีกประการหนึ่ง คือการทำให้เลือดแข็งตัวในเส้นเลือดดำที่ขาและส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอดได้ โดยจากการตรวจร่างกายผู้ป่วยจำนวน 81 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น จากอาการปอดอักเสบ เนื่องจากโรค COVID-19 พบว่า ผู้ป่วย 20 คน มีอาการดังกล่าว และเสียชีวิต 8 คน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook