EU เผย “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” เหตุไม่ช่วยอิตาลีตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด
สหภาพยุโรป (EU) แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่เพิกเฉยต่อคำร้องขอความช่วยเหลือของประเทศอิตาลี เมื่อครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติไวรัสโคโรนา โดยในช่วงแรก ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างประกาศห้ามส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ขณะที่หลายประเทศใน EU ก็ไม่ตอบรับการร้องขอความช่วยเหลือของอิตาลีเช่นกัน
“หลายประเทศไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออิตาลีขณะที่โรคเริ่มแพร่ระบาด ดังนั้นในฐานะประเทศในยุโรปด้วยกันจึงสมควรที่จะต้องขออภัยประเทศอิตาลีอย่างสุดซึ้ง” Ursula von der Leyen แถลง ณ ที่ทำการ EU
โพลสำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว พบว่า ชาวอิตาเลียนกว่า 88 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่า EU ไม่ได้ให้การสนับสนุนประเทศของพวกเขา คำกล่าวขอโทษอย่างตรงไปตรงมาของ Von der Leyen ยังมีใจความที่กล่าวตำหนิ “ปฏิกิริยาตอบรับเพื่อตัวเองเท่านั้น” ของประเทศสมาชิก EU
ขณะที่รัฐบาลในประเทศแถบยุโรปเริ่มลดระดับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ชี้ว่า คนที่สามารถสร้างแอนตีบอดีขึ้นมาต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สร้างความกังวลเรื่อง “คลื่นการระบาดลูกที่ 2” หากประชาชนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ Jaap van Dissel จากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาผู้บริจาคเลือดชาวเนเธอร์แลนด์กว่า 7,000 คน พบว่ามีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถสร้างแอนตีบอดีต้านเชื้อไวรัส
Hans Kluge ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ภูมิภาคยุโรป ออกคำเตือนว่า ถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีในบางประเทศที่ผ่านภาวะวิกฤติไวรัสโคโรนามาได้ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อของโลกก็ยังเพิ่มสูงขึ้น และกว่าครึ่งอยู่ในยุโรป โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อย ๆ ลดลงในประเทศสเปน อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ยังมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศอย่างในสหราชอาณาจักร ตุรกี ยูเครน เบลารุส และรัสเซีย
แต่ละประเทศต้องมีความมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศได้แล้ว ก่อนที่จะประกาศลดระดับมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกันนี้ ระบบสุขภาพของประเทศจะต้องมีความสามารถในการ “ตรวจหาผู้เข้าข่ายติดเชื้อ จับแยกตัว ตรวจหาเชื้อ สอบสวนโรค และกักกันตัว” โดย Kluge มองว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการยับยั้งการแพร่กระจายของโรคอย่างเข้มงวด และเสริมอีกว่า สำนักงานต่าง ๆ จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรม แต่ละประเทศก็ต้องสามารถจัดการความเสี่ยงของเชื้อไวรัสที่มาจากนอกประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และหากรัฐบาลไม่สามารถทำตามเกณฑ์เหล่านี้ได้ พวกเขาก็ควรที่จะ “พิจารณาการลดระดับมาตรการอีกครั้ง”
เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เริ่มเปิดโรงเรียน ขณะที่ประเทศออสเตรีย อิตาลี และสเปน ก็อนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทเปิดทำการได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับคนทำงานบางกลุ่มที่สามารถกลับไปทำงานได้ ประเทศเยอรมนีประกาศให้ร้านค้าต่าง ๆ เริ่มเปิดทำการได้ จากนั้นจึงประกาศเปิดโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นไป ส่วนนักเรียนในประเทศฝรั่งเศสจะสามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ตั้งแต่วันที 11 พ.ค. เป็นต้นไป
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่าวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้โลกของเรากลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งเขาก็หวังว่าวัคซีนจะถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แสดงให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วกว่า 2.1 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 140,000 ราย ซึ่งอยู่ในยุโรปมากถึง 90,000 ราย