คณบดีศิริราช ลั่นอีก 2 ปี ปลอดโควิด-19 แม้คลายล็อกเปิดเมือง แต่ยังต้องปิดสนามมวย-ผับบาร์
รายการโหนกระแสวันที่ (17 เม.ย.) "หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์โควิด-19 วันนี้พูดคุยกับ "ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก่อนหน้านี้อาจารย์โพสต์บอกว่ามีโอกาสเหลือเกินวันที่ 15 เม.ย. ตัวเลขอาจแตะหลัก 3 แสน ตอนนี้ตัวเลขน่าพอใจมั้ย?
"ผมจะร้อยเรียงว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำไมเราได้ขนาดนี้ คงจำได้สไลด์นี้เราเคยนำเสนอผู้ใหญ่ของประเทศว่าตอนนั้นเราติดตามดู เรามีคนไข้เริ่มแตะ 100 ขึ้นไปในวันที่ 15 มี.ค. หลังจากนั้นจำนวนก็เพิ่มขึ้นจนเริ่มแตะ 200 เราดูจำนวนวันจาก 100 เป็น 200 ใช้เวลากี่วัน ปรากฏว่าใช้เวลา 3 วันครึ่ง ในกราฟจะมีประเทศที่เอาโควิดอยู่ กับเอาโควิดไม่อยู่ ถ้าเราดูเอาไม่อยู่ใช้เวลา 3 วัน ส่วนประเทศที่เอาอยู่ใช้เวลา 5 วันขึ้นไป ของเราเวลานั้นอยู่ประมาณ 3 วันครึ่ง เราเลยมองว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเอาไม่อยู่ แล้วในกลุ่มเสี่ยงลักษณะเราคล้ายใครที่สุด ปรากฏว่าเราคล้ายเยอรมัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครบ 30 วันให้หลังเราเจอที่ตัวเลข 350,000 โดยวิสัยไวรัสตัวนี้ 100 ราย 80 รายอาการไม่รุนแรง 20 รายอาการรุนแรง และ 5 รายอาการสุดๆ เราคิดว่าถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะเกินศักยภาพประเทศไทย ระบบบริการสุขภาพเราจัดการไม่อยู่แน่ เราก็คิดว่าเราต้องดึงกราฟลงมาให้ได้"
"ถ้าเราดึงกลับมาเท่าไหร่ถึงจะเอาอยู่ ก็จะเห็นว่าตัวเลข 32 รายต่อวัน ถ้าตัวเลขประมาณนี้เราเอาอยู่ เราก็ตั้งเป้าหมายตรงนั้น โชคดีเราได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน และเริ่มมีมาตรการต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือรัฐบาลที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที่ที่ออกมาปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นคือมันลดลง ที่วงให้ดูคือ ญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ ต้องการให้ดูว่า ณ ตอนนั้นสิงคโปร์กับญี่ปุ่นชิลล์ๆ ค่อนข้างสบาย แต่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลนี้สิ้นสุดตอนเย็นเมื่อวันที่ 15 เม.ย. เรามีคนไข้ทั้งหมด 2,643 ราย เรากับมาเลเซีย ถ้าดูจากจุดเริ่มต้น เราเริ่ม 100 รายก่อนมาเลเซีย มาเลยเซียคือเส้นสีฟ้าต่ำกว่าเรา แต่หลังจากนั้นมาเลเซียเริ่มทิ้งเรา วันที่ประเทศไทย 1,000 ราย มาเลเซีย 2,000 ราย ตอนนี้มาเลเซียทะลุ 3,000-4,000 รายไปแล้วนะครับ เรายังอยู่ที่ 2,643 ส่วนที่ตีวงสิงคโปร์กับญี่ปุ่น สังเกตว่ากราฟเขาเปลี่ยนไป อยู่ๆ กราฟชันขึ้นทันที เราตัดกราฟนี้วันที่ 31 หลังแต่ละประเทศครบ 100 ราย"
"จากเดิมประเทศไทยเราอยู่อันดับ 2 ตอนเริ่มใหม่ๆ สิงคโปร์อันดับ 1 เราอันดับ 2 หลังจากนั้นสิงคโปร์ก็ลดลง มาเลเซียเป็น 1 เราเป็น 2 แต่ ณ วันนี้เราถูกแซงไปหมดแล้ว เราอยู่ที่ 5 ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย วันนี้อินโดนีเซียชนะมาเลเซียไปเรียบร้อยแล้ว สิงคโปร์ที่เคยคุมได้ดี ณ วันนี้เชิดหัวขึ้นมายอะมาก จนสิงคโปร์ต้องมีมาตรการอะไรบางอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนให้พวกเราเตรียมการอย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ"
เพราะเขานำหน้าเราอยู่ตอนนี้ เราจะได้รู้ว่าเขาพลาดอะไร?
"เขาพลาดอะไร อีกวงที่ให้ดูคือเวียดนาม ถ้าพูดกันตรงๆ เอามาตรฐานการแพทย์ของเวียดนามมาเทียบกับของเรา เราคิดว่าเราล้ำหน้าเขาอยู่ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เวียดนามทำได้ดีมากตั้งแต่ต้น คือออกมาตรการควบคุมโควิด ประกาศตั้งแต่เพิ่งมีจำนวน 100 กว่าราย รัฐบาลเขาประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรง รัฐบาลเขาประกาศเร็ว สองสิ่งที่เขาทำเร็ว เวียดนามสั่งชุดตรวจ COVID-19 Rapid Test จากเกาหลี 2 แสนชุด ตรวจคนที่สงสัยทันที ตอนนี้ตรวจไป 130,000 กว่าราย ฉะนั้นเขาสามารถเจอคนที่เป็นบวก เขาเจอบวกเร็วและแยกเร็ว ทำให้วันนี้เวียดนามไม่มีอัตราการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว"
"ของไทยตอนนี้ 2,643 ของสิงคโปร์เมื่อวานขึ้นไป 4,000 กว่า อินโดไม่ต้องห่วงเลยเขาทะลุ 5,000 พร้อมๆ มาเลเซีย สไลด์นี้ต้องการให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มจากร้อยและเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ กราฟจะชันขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่คุมไม่อยู่ โดยเฉพาะประเทศที่ปล่อยให้คนข้างนอกเข้าประเทศ"
เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย?
"ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่่งสิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่าง เวลาเราวางมาตรการต่างๆ ในประเทศเราสามารถควบคุมได้ แต่ทันทีที่คนข้างนอกเข้ามาจะหลุดจากระบบการควบคุม หลุดเข้ามา 10 ราย 10 รายนั้นสามารถแพร่กระจาย เมืองไทยเราเป็นโมเดล 1 รายกระจายไม่ถึง 1 แต่บางประเทศที่คุมไม่อยู่ 1 รายจะกระจายไป 3 ราย แล้วถ่ายทอดไป 11 ทอดเพราะยกกำลังสอง เป็นล้านนะครับ เข้ามาแม้แต่ 10 รายถ้าคุมไม่ดีจะกระจายรวดเร็ว นี่เป็นเหตุผลที่คนจำนวนหนึ่งกลับจากต่างประเทศในวันที่ 8 กลับจากอินโดฯ ถึงต้องเชิญมาเก็บตัว 14 วันต้องดูให้หมด เหตุการณ์วันนั้นก็เป็นอุทาหรณ์อย่างหนึ่ง ถ้าเลือกตรวจเทสต์ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการตกหล่น"
วันนี้น่าพอใจ แล้วจะต้องดูแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่?
"ส่วนตัวไม่อยากเรียกน่าพอใจ แต่เรียกว่าดีขึ้น"
ถ้าพอใจต้องเป็นเซ็ตซีโร่เลยมั้ย?
"โอกาสเซ็ตซีโร่น่าจะเป็นอีก 2 ปี เมื่อไหร่เราเจอจำนวนคนไข้ใหม่น้อยลง อันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าตรวจน้อยลงหรือเปล่า ถ้าเราตรวจน้อยลงก็เจอน้อยลง อันนี้ก็จะเป็นตัวเลขไม่จริงแล้ว ตัวเลขที่เราตรวจในวลานี้เมื่อเทียบประชากร 1 ล้านเราตรวจมากกว่าเวียดนาม เราตรวจไปแสนกว่าราย ขณะเดียวกันเราเตรียมจะตรวจมากขึ้นไปอีก ถ้าเราตรวจเยอะ ขณะเดียวกัน จำนวนน้อยลงจริง ก็ต้องให้แน่ใจว่าน้อยจริงๆ นะ เขาก็แนะนำว่าให้ติดตามแบบนี้ไป 14 วัน ระยะฟักตัว"
"วันแรกที่เราเริ่มน้อยลง ของเมืองไทยเราจริงๆ วันที่ 6 เม.ย. 51 ราย วันที่ 7 เม.ย. 38 ราย วันที่ 8 เม.ย. ขึ้นมา 111 ราย หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ พอไปวิเคราะห์ 111 ราย มี 42 รายที่กลับจากอินโดนีเซีย นั่นหมายถึงเป็นปัจจัยภายนอก ในประเทศจริงๆ ยังเป็น 60 กว่าราย และลงต่อเนื่องมาตลอด เวลาดูเราต้องดู 3 ตัว จำนวนใหม่ต้องสัมพันธ์กับการตรวจด้วย แต่ถ้ามองในแง่เซฟไซส์ต้องมองวันที่ 9 เม.ย. แล้วลงต่อเนื่องถึง 22 เม.ย. ไม่กระดกขึ้นมาอีกเลย ไม่มีรายใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกเลย ผมอาจเริ่มสบายใจมากขึ้นว่าเราอาจคุมการกระจายของเชื้อได้ดีขึ้้น"
จำนวนคนตายถ้าเทียบเป็นสัดส่วนตอนนี้เป็นไง?
"จะเห็นว่าอินโดฯ ฟิลิปปินส์มีคนเยอะ เจ็บเยอะ โอกาสตายก็ตามส่วน มาเลซียน้อยกว่าไทยไม่ถึงครึ่ง แต่อัตราการเป็นโรคเขาเยอะมาก ฉะนั้นอัตราการเสียชีวิตก็เยอะตามส่วน ของเราตอนนี้อยู่ 1.63 เป็นอัตราที่ไม่สูง พอรับได้ อันนี้ต้องชื่นชมนะครับว่าทีมที่ดูแลคนไข้ทำกันเต็มที่จริงๆ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้เรามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่หายใจไม่ได้ ต้องใส่ท่อหายใจ ลึกๆ ก็คิดว่าไม่ไหว แต่ปัจจุบันสามารถถอดท่อหายใจและกลับบ้านแล้ว ตรงนี้เราก็ทำได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ"
"ปัจจัยที่สอง อัตราการเสียชีวิตเราทำได้ดี แต่ตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับข้อแรกด้วย เมื่อไหร่มีคนติดเชื้อมากๆ และเกินศักยภาพโรงพยาบาล อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นทันที เป็นเรื่องที่เราห่วงตรงนี้มาก เราถึงบอกว่ายุทธศาสตร์ต้นน้ำต้องลดลงให้ได้ ไม่ให้มาประดังอยู่ปลายทาง ซึ่งประดังอยู่ปลายทางจะมีคนไข้หนัก และคนไข้ดีพอที่จะกลับบ้าน ตอนนี้อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้เรารู้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นจริงๆ ในระดับหนึ่ง จะเห็นว่าลูกศรชี้ลงมา อันนี้เป็นวันแรก ก่อนหน้านี้สีเขียวโดยทั่วไปต่ำกว่าสีส้ม นั่นคืออัตราคนติดเชื้อใหม่เยอะกว่าคนกลับบ้านตลอดก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้นมา เรามีคนกลับบ้านมากกว่าคนเข้าใหม่ ศิริราชเตรียมเตียงตั้ง 102 เตียง ตอนนี้เหลือ 20 เตียง คนไข้ทยอยกลับบ้านไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยใหม่ของเราตอนนี้ ณ วันนี้หายไปแล้วเกือบ 1,500 แล้ว จะเห็นว่าความสามารถในการดูแลของเราดีพอ ภายใต้เงื่อนไขว่าการทะลักเข้าโรงพยาบาลคุมได้ดี ออกไปมากกว่าเข้า แต่ถ้าเราไม่ช่วยกัน ผมใช้คำว่ายุทธศาสตร์ปลายน้ำกับต้นน้ำ ปลายน้ำคือมีโรคมาหาเรา เรารักษาให้หายและกลับบ้าน ยุทธศาสตร์ต้นน้ำคือคนไข้น้อยที่สุด ซึ่งเราทำกันมาตลอด นั่นคืออยู่บ้าน รักษาระยะห่าง โดยหลักต้นน้ำได้ผลดีกว่าเยอะมาก ต้นน้ำไม่ใช่หน้าที่แพทย์พยาบาล เป็นหน้าที่คนไทยทุกคน ผมย้ำอีกครั้ง ศึกนี้จะชนะคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน"
ถ้าตัวเลขลดลงเรื่ยงๆ ถึง 22 แต่ 1 พ.ค. เป็นวันปลดล็อก 30 เม.ย. หมด พ.ร.ก. พอจะเปิดไหวมั้ยสำหรับห้าง เปิดเมืองเหมือนเดิม?
"อันนี้พูดในฐานะคนข้างนอกมองเข้ามา เราตอบแทนผู้บริหารประเทศไม่ได้ ผมเชื่อว่าถ้าตัวเลขอันนี้กว่าจะถึง 30 เราเห็นตัวเลขมากกว่า 22 ไปอีก ถ้าจะลดลงไปเรื่อยๆ เราอาจต้องเริ่มผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง อย่าลืมว่ามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นจะมีผลสองอย่าง คือ เศรษฐกิจและเศรษฐกิจรากหญ้า อันที่สองคือ สังคมเครียด ถูกกดดันอยู่เรื่อยๆ ต้องผ่อนเป็นระยะตามความเหมาะสม และเชื่อว่าแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน บางจังหวัดอาจผ่อนเยอะ บางจังหวัดอาจต้องเข้ม"
เช่นอะไร?
"ผมยกตัวอย่างภูเก็ตผมเชื่อว่ายังต้องเข้ม ใน กทม. ตัวเลขล่าสุดดีมาก อัตราการติดเชื้อน้อยลงชัดเจน ตัวเลขสองวันที่ผ่านมาต่างจังหวัดเยอะกว่ากรุงเทพฯ ถ้าจะผ่อนต้องผ่อนในกิจกรรมที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปผ่อนมวย อย่าว่ากันนะ อย่าไปผ่อนกิจกรรมที่เป็นสันทนาการ เพราะบ่อยครั้งเกิดการพูดคุย ตะโกนใส่กัน และนั่นแหละมีโอกาสเกิดการแพร่เชื้อ เราจะกลายเป็นสิงคโปร์ 2 และขึ้นรอบใหม่ครั้งนี้อาจไม่ง่ายแล้ว"
ผับบาร์ไม่ควร?
"ไม่ควร ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น แต่ร้านอาหารอาจต้องเริ่มดู ร้านตัดผมก็ต้องพิจารณา เราต้องช่วยกัน ย้ำอีกครั้งอย่าเพิ่งดีใจจนเกินไป อย่าผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ขอให้ผ่อนไปเป็นสเต็ปเป็นระยะๆ ผมยืนยันว่าเมื่อผ่อนปรนคนไข้ใหม่จะเกิดขึ้น แต่จะขึ้นเตี้ยกว่าของเดิม ทำอย่างนี้กราฟเราจะค่อยๆ เตี้ยลง แต่ระยะเวลากว่าจะเป็นเส้นตรงราบไป ผมเชื่อว่าเป็นปีถึงปีครึ่ง"
หน้าฝนจะกลับมาระบาดจริงมั้ย?
"มีปัจจัยสองอย่างทำให้หน้าฝนน่ากลัว หนึ่งคือปัจจุบันนี้ถ้าเราเป็นหวัดเรารีบไปหาหมอแน่ ถ้าเป็นโควิดเรามีโอกาสตรวจเจอเยอะ แต่พอหน้าฝนคนจำนวนหนึ่งจะคิดว่าเป็นหวัด เลยไม่ไปตรวจ แต่ถ้าเขาเป็นโควิดระหว่างนั้นเขาแพร่กระจายได้ ปัจจัยที่สองคือ ณ วันนี้เราตรวจคนไข้เราไปประมาณ 1,440 รายต่อ 1 ล้านคน ถ้าถึงตอนนั้นพอเป็นหวัดเราจะแยกไม่ได้ ตอนนี้เราเตรียมการแล้วนะครับ เราเตรียมน้ำยาปูพรมตรวจให้ได้ 25,000 รายต่อวัน"
ข้อมูลบางอันบอกว่าที่เกาหลีใต้ คนไข้เคยป่วยเป็นโควิด 51 คน ตรวจเป็นลบไปแล้ว แต่อยู่ดีๆ กลับไปอยู่บ้านแล้วเป็นอีก มีโอกาส?
"อันนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากมาย ผมก็ตามเรื่องนี้อยู่ ถ้าพูดถึงนักวิชาการ นักไวรัสวิทยา คิดว่าไม่น่าเกิดขึ้น มีคนพูดว่าเกิดจากรีเฟล็กซ์เทสต์การตรวจหรือเปล่า เวลาเราตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัส ต่อให้ไวรัสไม่แอ็กทีฟแล้วแต่เราจะตรวจเจอมัน เสมือนหนึ่งใครสักคนหนึ่งเสียชีวิตใหม่ๆ ก็ยังเจอลายนิ้วมือ แต่เชื้อมันตายแล้ว ตอนนี้สมมติฐานว่ามันมีรีอินเฟล็กซั่นปัจจุบันยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าจริงก็เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่น่าเป็นจริง และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นการสงสัยว่าจริงหรือเปล่า"
วัคซีนจะมีเมื่อไหร่?
"คงไม่เร็วกว่า 1 ปี และไปถึงปีครึ่ง ถ้าปีครึ่งโควิดหายแล้ว บริษัทยาไม่ผลิตแล้ว เพราะคนไม่ฉีด ไม่คุ้ม นอกจากส่วนไหนไวรัสที่เราไปบล็อกมันและขยายวงต่อให้เป็นจำนวนเยอะๆ ฉีดเข้าไปในตัวคน ณ วันนี้มีหลายแล็บผลิตวัคซีน แต่ถ้าตามความเห็นผมก็ประมาณ 1 ปี"
กับพวก Herd Immunity ที่ประกาศว่าปล่อยไปเลยมั้ย ให้มีภูมิคุ้มกันไปเลย เสี่ยงเกินไปมั้ย?
"Herd Immunity จะเกิดในประเทศหนึ่งและสามารถล็อกไวรัสอยู่ได้ อย่างน้อยๆ 50% ในประเทศนั้นเป็น ระหว่างนั้นคนไม่มีภูมิแล้วเสียชีวิต คือคนสูงอายุนี่คือคนเสี่ยง อย่าพยายามไปสร้าง Herd Immunity เพราะคนหนุ่มสาวไม่เป็นไร แต่จะทำให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายเสียชีวิตได้"
เรื่องไวรัสกลายพันธุ์มีโอกาสมั้ย?
"ทางทฤษฎีบอกได้เลยว่ามันกลายพันธุ์อยู่แล้ว แต่การกลายพันธุ์ของมันไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของอาการ วันนี้ที่มี 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ มีการศึกษาว่าไม่น่าจะทำให้อาการรุนแรงเกิดขึ้น โดยทั่วไปสายพันธุ์ที่อยู่จะทำให้อาการน้อยลง เหตุผลที่ทำให้รุนแรงมันจะตายไปพร้อมกับคนไข้ เป็นบาลานซ์อย่างหนึ่ง"
Rapid Test ที่เวียดนามใช้ตรวจกัน รู้เร็ว ตรวจเร็ว ทำไมคนไทยไม่ใช้ หลายภาคส่วนมีการผลักดันแต่ถูกปัดตกไปหมด?
"ก็ไม่อยากเรียกว่าปัดตก แต่ต้องไม่เกิดบวกเทียม ลบเทียม Rapid Test มี 2 กลุ่ม ซึ่งอันที่เกิดปัญหาที่อินโดนีเซีย ถ้าจำได้ 8 เม.ย คนก่อนขึ้นเครื่องมี 24 คนตรวจอันนี้แล้วบอกว่าบวกแล้วไม่ให้กลับ แต่เขาไปตรวจภูมิต้านทาน เขาไปตรวจไอจีเอ็ม ไอจีจี พอตรวจเจอก็ไม่ให้ขึ้นเครื่อง ที่เหลือไม่เจอก็บอกปลอดภัยให้ขึ้นเครื่อง แต่บอกได้เลยว่าไอจีเอ็มกว่าจะขึ้นก็ 7 วัน ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ก่อนขึ้นเครื่องบอกลบ แต่พอมาถึงเมืองไทยเป็นบวก พูดง่ายๆ คืออยู่ใน 7 วันแรก การเลือกใช้ Rapid Test ต้องเลือกให้เหมาะสม ถ้าเลือกไม่เหมาะสมจะเกิดการแปลผลผิดและเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่โชคดีที่เอาอยู่ทุกคน"
ณ วันนี้ถ้าผ่านเกณฑ์นับไปตั้งแต่ 9-22 เม.ย. ถ้าตัวเลขลงแบบนี้พอใจระดับหนึ่ง แต่ 1 พ.ค. ต้องค่อยๆ ผ่อนปรนเปิดเมือง จะเปิดเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ ชีวิตมนุษย์เราเปลี่ยนแน่นอน?
"ถ้าเปิดแบบนั้นเปลี่ยนแนวนอน เราจะกลับมาเหมือนเดิม ขึ้นเป็นร้อยๆ ทุกวัน เจอคนเสียชีวิตอย่างมากมาย เราเครียดอีกแน่นอน"
เครื่องบินไม่ควรบิน?
"ไม่ควรครับ ตอนนี้ยืนยันว่าจำเป็นต้องไม่ให้มีคนเข้ามาใหม่"
คนดินทางกลับจากมาเลเซีย?
"เขามีมาตรการอยู่แล้ว ถ้าเข้ามาแล้วกักตัว 14 วัน ถ้าไม่ยอมก็ห้ามเข้า"