“Work from Home” แล้วไม่มีสมาธิ “ดนตรี” ช่วยคุณได้
สำหรับผู้ที่ทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work from home ตามมาตรการล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาที่เรามักจะพบบ่อยๆ คือการเสียสมาธิและไม่สามารถจัดการงานต่างๆ ได้ เนื่องจากมีสิ่งรบกวน รวมทั้งเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพ บริการสตรีมมิงเพลงหรือคอลเลคชันเพลงที่คุณมีอยู่ช่วยคุณได้
นอกจากเราจะสามารถเปิดเพลงคลอขณะทำงานเพื่อไม่ให้บ้านเงียบเกินไปได้ เพลงยังช่วยพัฒนาทั้งประสิทธิภาพในการทำงานและกระบวนการคิด โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ การฟังเพลงจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความวิตกกังวล สร้างแรงจูงใจ และทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ขอเพียงคุณมาเพลย์ลิสต์ที่เหมาะสมก็พอ
เริ่มต้นด้วยเพลงช้า
เริ่มต้นวันของคุณด้วยเคล็ดลับจากดนตรีบำบัด แนวคิดนี้เรียกว่า “iso principle” ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักบำบัดใช้ในการเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ป่วย โดยจับคู่เพลงเข้ากับความรู้สึกของผู้ป่วย จากนั้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเพลงไปจนถึงสภาวะของอารมณ์ที่ต้องการ
เพลงในช่วงเริ่มต้นของเพลย์ลิสต์ไม่ควรเป็นเพลงที่บังคับให้คุณเข้าสู่สภาวะที่ต้องมีประสิทธิภาพ แต่ควรจะค่อยๆ พาคุณไปในจุดนั้น ในขณะที่เพลงมีความแตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน เคิร์สเทน เนลสัน นักดนตรีบำบัดจากโรงพยาบาลเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยไอโอวา สเตด แนะนำเพลงอย่าง Here Comes the Sun ของ The Beatles และ Ooh Child ของ Five Stairsteps น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเธอระบุว่า หากรู้สึกหดหู่ในตอนเช้า ควรเริ่มต้นวันด้วยสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกสงบ จากนั้นค่อยพาตัวเองไปสู่เพลงที่กระตุ้นแรงจูงใจ เพื่อเข้าสู่สภาวะอารมณ์ที่คุณต้องการ
เปลี่ยนสู่ “เพลงสร้างพลัง”
นักวิจัยค้นพบว่า เพลงเร็วส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของเพลงและความสามารถในการผลิตงาน กลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับการทดสอบจะทำงานได้ดีในขณะที่ฟังเพลงที่มีความเร็วประมาณ 121 bpm เช่น Call Me Maybe ของคาร์ลี เร เจปเซน หรือ I Wanna Dance with Somebody ของวิทนีย์ ฮิวสตัน และ I Will Survive ของไดอานา รอสส์
เนลสันเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการมองหา “เพลงสร้างพลัง” ซึ่งสามารถใช้ในการกระตุ้นให้ผู้ฟังขยันมากขึ้น โดยเธอเชื่อว่าเพลงสามารถกระตุ้นคนได้ในขณะที่สิ่งอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ และหากคุณต้องการพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกมีพลังและแรงบันดาลใจ เพลงสร้างพลังดังกล่าวจะเป็นประโยชน์มาก นอกจากนี้ การวางตำแหน่งเพลงประเภทนี้ในช่วงต่างๆ ของเพลย์ลิสต์ เช่น ช่วงเริ่มวันใหม่ ช่วงที่เปลี่ยนจากการทำสิ่งหนึ่งไปทำอีกสิ่งหนึ่ง หรือช่วงจบวัน ก็จะช่วยรักษาระดับของแรงจูงใจได้ด้วย
ทบทวนเนื้อเพลงของคุณ
เนลสันกล่าวว่า ทางเลือกในการใส่เพลงที่มีเนื้อเพลงลงในเพลย์ลิสต์ควรจะขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของแต่ละคน ในขณะที่นักวิจัยแนะนำว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะและซับซ้อนสามารถช่วยให้คนทำงานตื่นตัวและมีแรงผลักดันขณะที่ทำภารกิจซ้ำๆ แต่เพลงที่มีเนื้อเพลงอาจจะทำให้เสียสมาธิ ในกรณีของผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ความคิด ดังนั้น เพลย์ลิสต์สำหรับการทำงานควรรวมเอาเพลงที่มีเนื้อเพลงฟังสบายๆ เอาไว้ด้วย
และในขณะที่เนื้อเพลงอาจจะเป็นสิ่งที่สร้างแรงจูงใจชั้นดี อย่าเพิ่งวิ่งไปหาเพลงโปรดของคุณโดยอัตโนมัติ งานวิจัยชิ้นหนึ่งค้นพบว่า ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงขณะที่เราฟังเพลงที่เรียกว่าเป็น “เพลงที่คุ้นเคย” และเสนอว่า แม้ว่าการฟังเพลงที่สนุกจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่เพลงที่เราคุ้นเคยมากก็ทำให้เสียสมาธิเช่นกัน
ยืดหยุ่นกับตัวเอง
การสร้างเพลย์ลิสต์สำหรับการทำงานที่บ้านไม่ควรเป็นเหมือนกับการทำงานบ้าน แต่ควรเป็นสิ่งที่สะสมพอกพูนไปตามเวลา และเมื่อมีเพลงเพิ่มมากขึ้น ก็จัดสรรเพลงต่างๆ ตามลำดับที่เหมาะสมกับการทำงานของคุณ นอกจากนี้ เนลสันยังระบุว่า ควรปล่อยให้ตัวเองฟังเพลงใหม่ๆ ทดลองสิ่งใหม่ ทิ้งเรื่องเก่าๆ และรับเรื่องใหม่ๆ เข้ามา จงยืดหยุ่นกับตัวเอง และหากไม่อยากฟังเพลย์ลิสต์ที่จัดไว้ ก็ไม่ต้องฟังก็ได้