หมอธนรักษ์ ไล่เรียงไทม์ไลน์ 111 วัน ปฏิบัติการสู้วิกฤตโควิด-19 ชี้ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน

หมอธนรักษ์ ไล่เรียงไทม์ไลน์ 111 วัน ปฏิบัติการสู้วิกฤตโควิด-19 ชี้ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน

หมอธนรักษ์ ไล่เรียงไทม์ไลน์ 111 วัน ปฏิบัติการสู้วิกฤตโควิด-19 ชี้ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย. 2563) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวัน โดยถือโอกาสที่ครบรอบ 111 วันของเหตุการณ์ด้วยการไล่เรียงไทม์ไลน์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมทั้งประเทศไทยใช้มาตรการใดในการรับมือเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ต้นเดือน ธ.ค. 2562

จีนเริ่มพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น

  • 31 ธ.ค. 2562

จีนรายงานต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุเป็นกลุ่มก้อน 27 คน และทุกคนเกี่ยวข้องกับ Wuhan Huanan Seafood Market และระบุว่าไม่แพร่จากคนสู่คน

  • 3 ม.ค. 2563

จีนรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมเป็น 44 คน ด้านกรมควบคุมโรคของไทยออกคำสั่งเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมถึงเตรียมความพร้อมคัดกรองและเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน

  • 7 ม.ค. 2563

ทางการจีนคิดว่าค้นพบเชื้อแล้ว คือ bat SARS-like coronaviras หรือเชื้อที่ลักษณะคล้ายกับซาร์สซึ่งเจอในค้างคาว

  • 8 ม.ค. 2563

ไทยตรวจพบผู้ป่วยชาวจีนสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่สนามบิน

  • 9 ม.ค. 2563

เจอเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้ป่วยชาวจีนรายดังกล่าว

  • 10 ม.ค. 2563

ห้องปฏิบัติก่ีศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเชื้อ bat SARS-like coronaviras ในผู้ป่วย

  • 11 ม.ค. 2563

จีนเปิดตัวเชื้อก่อโรค

  • 13 ม.ค. 2563

ไทยรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก หลังจากพิจารณาข้อมูลต่างๆ และในวันเดียวกันยังพบผู้ป่วยสงสัยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเป็นรายที่ 2 ด้วย

  • 15 ม.ค. 2563

พบผู้ป่วยสงสัยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 3 และเป็นคนไทยรายแรก ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น การตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยไม่ง่ายเท่าปัจจุบัน จึงต้องใช้เวลาพอสมควร รวมถึงเริ่มขยายการเฝ้าระวังไปในกลุ่มผู้ที่สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย

  • 18 ม.ค. 2563

ผู้ป่วยรายแรกออกจากโรงพยาบาลและเดินทางกลับจีน

  • 20 ม.ค. 2563

ทางการจีนประกาศว่าโรคโควิด-19 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

  • 22-23 ม.ค. 2563

องค์การอนามัยโลก แต่งตั้งคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน

  • 23 ม.ค. 2563

จีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น

  • 27 ม.ค. 2563

รัฐบาลไทยประกาศยกระดับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19

  • 30 ม.ค. 2563

องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ

  • 31 ม.ค. 2563

พบผู้ป่วยคนไทย ติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก

  • 3 ก.พ. 2563

กรมควบคุมโรคประชุมซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายทั่วประเทศ และในช่วงเดือนนี้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและผู้ติดเชื้อในประเทศ

  • 4 ก.พ. 2563

รับคนไทย 138 คน กลับจากเมืองอู่ฮั่น กักตัวที่ฐานทัพเรือสัตหีบ 14 วัน ภายหลังพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ 1 คน และหายดีจนกลับบ้านพร้อมกับคนไทยที่เหลือได้

  • 11 ก.พ. 2563

พบผู้ป่วยอาการรุนแรงในไทยรายแรก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ พร้อมกันนั้นเริ่มทำการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในผุ้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ

  • 15 ก.พ. 2563

บริษัทยาในญี่ปุ่น บริจาคยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้ไทยจำนวน 200 เม็ด เป็นเวลาเดียวกันกับที่ไทยสั่งซื้อยาดังกล่าวไป แต่ทางบริษัทส่งมาให้ล่วงหน้าก่อน

  • 19 ก.พ. 2563

จัดประชุมชี้แจงแนวทางการป้องการการติดเชื้อในโรงพยาบาล สำหรับสถานพยาบาลทั่วประเทศ

  • 24 ก.พ. 2563

ยา Favipiravir ล็อตแรกที่ไทยสั่งซื้อ 5,000 เม็ด ส่งมาถึงกรมควบคุมโรค โดยยาที่ได้รับการบริจาคมา 200 เม็ด ก็ทยอยใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จากนั้นมีผู้ป่วยอาการรุนแรงทยอยเพิ่มขึ้น

  • 29 ก.พ. 2563

ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตเป็นรายแรกของไทย และในวันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย

  • 1 มี.ค. 2563

เริ่มมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้า แทนหน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากผ้าสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้จริง

  • 2 มี.ค. 2563

แรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้จะเดินทางกลับมาไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีทยอยกลับมาแล้ว จึงมีการเตรียมความพร้อมในระยะต่อมา และนำไปสู่การดูแล

  • 5 มี.ค. 2563

ประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย

  • 6 มี.ค. 2563

รายการมวยที่สนามมวยลุมพินี เป็นจุดเริ่มการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในประเทศไทย

  • 8 มี.ค. 2563

รายการมวยที่สนามมวยราชดำเนิน

  • 12 มี.ค. 2563

สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

  • 13 มี.ค. 2563

เซียนมวยและผู้มีชื่อเสียงทำหน้าที่เป็นพิธีกรในสนามมวย ประกาศตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ สนามมวยถือเป็นคลัสเตอร์ที่ 1 สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นคลัสเตอร์ที่ 2 ส่วนคลัสเตอร์ที่ 3 คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากการแสวงบุญจากมาเลเซีย ทำให้ไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงกลางเดือน มี.ค.

  • 17 มี.ค. 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ รวมถึงให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และการงดจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค พร้อมกับมีการคาดการณ์ว่า หากไม่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มสูงเกิน 300,000 คน แต่ในวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ป่วยในบ้านเรายังมีจำนวนสะสมไม่ถึง 3,000 คน

  • 21 มี.ค. 2563

ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศกิจการและสถานที่เสี่ยงบางประเภททั่วกรุงเทพฯ เป็นเวลา 22 วัน ทำให้ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก และพบการรายงานผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ

  • 22 มี.ค. 2563

มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุด คือ 188 คน พร้อมกับที่มีการปรับนิยามการวินิจฉัยผู้ป่วย จากต้องใช้ผลบวกจาก 2 ห้องปฏิบัติการให้เหลือเพียงผลบวกจากห้องปฏิบัติการเดียว

  • 24 มี.ค. 2563

ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีผลบังคบใช้ในวันที่ 26 มีนาคม

  • 25 มี.ค. 2563

ประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

  • 26 มี.ค. 2563

เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

  • 28 มี.ค. 2563

เริ่มประกาศห้ามประชาชนเดินทาง เข้า-ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

  • 29 มี.ค. 2563

จ.ภูเก็ต ประกาศปิดเกาะ ปิดช่องทางเข้า-ออกทั้งทางบกและเรือ ตั้งแต่ 30 มี.ค. - 30 เม.ย.

  • 29-30 มี.ค. 2563

จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส มีการประกาศเช่นเดียวกัน

  • 31 มี.ค. 2563

ประกาศให้สิทธิการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 อยู่ในขอบเขตบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  • 2 เม.ย. 2563

ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) ช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. และสั่งห้ามไม่ให้คนต่างชาติและคนไทยเดินทางเข้ามาในประเทศ

  • 4 เม.ย. 2563

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ห้ามเครื่องบินทุกประเทศและผู้โดยสารเข้าไทย 3 วัน และประกาศเพิ่มในเวลาต่อมาถึง 30 เม.ย. ยกเว้นที่ทำการขออนุญาตไว้แล้ว

  • 7 เม.ย. 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563

  • 8 เม.ย. 2563

กระทรวงวัฒนธรรมออกประกาศห้ามจัดงานสงกรานต์

  • 9 เม.ย. 2563

กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัด เริ่มประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง กระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 54 คน และหลังจาก 9 เม.ย. เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีน้อยกว่า 100 คนมาโดยตลอด

  • 12 เม.ย. 2563

จ.ภูเก็ต สั่งปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทุกตำบล ตั้งแต่ 13-26 เม.ย.

  • 19 เม.ย. 2563

วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม คงที่ 47 ราย แต่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 32 ราย หายเพิ่ม 141 คน รวมกลับบ้านได้แล้ว 1,928 คน ยังคงพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 790 คน ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมมีจำนวน 2,765 ราย ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2562 วันนี้ถือเป็นวันที่ 111 ของปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม นพ.ธนรักษ์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ไม่มีประเทศไหนที่เหมือนกัน ในขณะที่ท่านตั้งคำถามถามประเทศของท่านเองว่า

  • ทำไมตรวจน้อย
  • ทำไมไม่ใช้แอ็ป หรือเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำโน่นทำนี่
  • ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงไปเลย เอาให้หนักๆ
  • ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้

ท่านทราบหรือไม่ว่า ประชาชนประเทศอื่นเขาก็ตั้งคำถามประเทศของเขาเหมือนกันว่า

  • ทำไมประเทศเขาถึงไม่มี อสม. 1 ล้านคนที่พร้อมเต็มใจเข้ามาช่วยทำงานทุกอย่างทั้งติดตามผู้ต้องกักกันตัว ทั้งให้ความรู้ประชาชน ทั้งเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์
  • ทำไมประเทศเขาไม่มีนักระบาดวิทยาและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีความรู้ความสามารถที่ทุ่มเททำงานเต็มกำลังความสามารถอย่างเพียงพอ
  • ทำไมคนของเขาถึงไม่ใส่หน้ากากอย่างกว้างขวางกันเกือบทุกคน
  • ทำไมประเทศเขาไม่มีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่ทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีประกาศห้าม
  • ทำไมบ้านเขาไม่มีคนที่มีน้ำใจออกมาแบ่งปันข้าวของจำเป็นให้คนด้อยโอกาส

ในขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ถ้ามองย้อนกลับไป จะพบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคไม่มีประเทศไหนที่ดำเนินการเหมือนกันทุกอย่าง ไม่มีประเทศไหนที่มีต้นทุนเท่ากัน ความสำเร็จในการควบคุมโรคของแต่ละประเทศจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยยุทธศาสตร์และมาตรการเดียวกัน ในสัดส่วนน้ำหนักที่เท่าๆ กัน

ความสำเร็จในการควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉินของแต่ละประเทศควรมาจากการนำจุดแข็งที่แต่ละประเทศมีออกมาใช้ให้เต็มที่ที่สุด ดังเช่นที่เราทำอยู่

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ หมอธนรักษ์ ไล่เรียงไทม์ไลน์ 111 วัน ปฏิบัติการสู้วิกฤตโควิด-19 ชี้ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook