รับมือ “COVID-19” ด้วยบทเรียน 3 ข้อ จากไข้หวัดใหญ่สเปน

รับมือ “COVID-19” ด้วยบทเรียน 3 ข้อ จากไข้หวัดใหญ่สเปน

รับมือ “COVID-19” ด้วยบทเรียน 3 ข้อ จากไข้หวัดใหญ่สเปน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดเมื่อปี 1918 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” แม้จะไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสเปน ส่งผลให้ประชากรโลกติดเชื้อถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากการระบาดใหญ่ที่เข้มข้นและรวดเร็ว และในปี 2020 นี้ โลกของเราก็ต้องเผชิญกับโรคระบาดใหญ่อีกครั้ง จาก “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการรับมือกับไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับโรค COVID-19 ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้ และนี่คือ 3 บทเรียนสำคัญจากไข้หวัดใหญ่สเปนที่อาจนำมาปรับใช้ในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้

1. ไม่ควรยกเลิกการเว้นระยะห่างทางสังคมเร็วเกินไป

นักระบาดวิทยากล่าวว่า ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่สเปนกำลังระบาดหนัก ประชาชนหลายคนยกเลิกการเว้นระยะห่างทางสังคมเร็วเกินไป ส่งผลให้เกิดคลื่นการติดเชื้อระลอกใหม่ที่อันตรายยิ่งกว่าครั้งแรก

ดร.แลร์รี บริลเลียนท์ นักระบาดวิทยากล่าวว่า ในซานฟรานซิสโก เมื่อจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองได้สั่งเปิดเมืองพร้อมจัดขบวนพาเหรดใหญ่โต แถมยังฉลองโดยการถอดหน้ากากอนามัยพร้อมกัน และ 2 เดือนต่อมา ไข้หวัดใหญ่ก็กลับมาแพร่ระบาดอีก

เช่นเดียวกับในฟิลาเดลเฟีย แม้ว่าจะมีกะลาสีเรือจาก Philadelphia Navy Yard จำนวน 600 คน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปนในเดือนกันยายน 1918 แต่ทางเมืองกลับไม่ยอมยกเลิกกำหนดการเดินขบวนพาเหรด ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน ส่งผลให้หลังจากนั้นเพียง 3 วัน ฟิลาเดลเฟียมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 635 ราย และกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา จากรายงานของศูนย์จดหมายเหตุและสถิติ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

ดร.บริลเลียนท์กล่าวว่า “ภาพเส้นโค้งของการระบาดขณะนี้ที่เราคิดไว้อาจจะดูเหมือนเรากำลังขึ้นสู่ยอดของเส้นโค้ง เหมือนอยู่บนยอดภูเขาไฟฟูจิ แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าใช่ ภาพที่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้มากกว่าก็คือคลื่นสึนามิ ที่คลื่นยักษ์อีกลูกกำลังจะตามมา ซึ่งคลื่นที่ว่านี้จะใหญ่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา”

2. ผู้ที่อายุน้อยและร่างกายแข็งแรงก็อาจจะเสียชีวิตได้

จอห์น เอ็ม แบร์รี ศาสตราจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยทูเลน และผู้เขียนหนังสือ "The Great Influenza: The Story of the Deadliest Pandemic in History" กล่าวว่า โรคระบาดใหญ่เมื่อปี 1918 ส่งผลให้มีผู้ใหญ่ที่อายุน้อยเสียชีวิต แม้ว่าจะมีร่างกายแข็งแรง โดยผู้เสียชีวิตราว 2 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 50 ปี และกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด คือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 28 ปี

แม้ว่าผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาจะเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่คนที่มีอายุน้อยและสุขภาพแข็งแรงก็อาจจะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ได้เช่นกัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เข้มแข็งของคนกลุ่มนี้ อาจจะทำลายร่างกายได้ด้วย โดยในกรณีของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่า ปฏิกิริยาที่มากเกินไปของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่สูงในหมู่ผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง

ดร.สัญชัย คุปตะ หัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านการแพทย์ของ CNN ระบุว่า สำหรับโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อย่าง COVID-19 ระบบภูมิคุ้มกันที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อโรคที่รุนแรงเกินไป หรือที่เรียกว่า “พายุไซโตไคน์” ส่งผลให้ผู้ที่มีอายุน้อยเสียชีวิตได้เช่นกัน

3. อย่าใช้ยาที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบในการต้านไวรัส

ความท้าทายที่เหมือนกันระหว่างไข้หวัดใหญ่สเปนและไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คือ ยังไม่มีวัคซีนและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด จากรายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า ในปี 1918 มีการใช้ยาที่พัฒนาใหม่ รวมทั้งน้ำมันและสมุนไพรต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ได้มีความเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไร เนื่องจากยาเหล่านั้นยังไม่ได้มีทฤษฎีเชิงอรรถาธิบายมารองรับ

เช่นเดียวกับในปี 2020 มีการถกเถียงอย่างแพร่หลายว่ายาไฮดรอกซีคลอโรควิน ที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย โรคลูปัส และโรคไขข้ออักเสบ จะสามารถรักษาโรค COVID-19 ได้หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยระบุว่า ยาไฮดรอกซีคลอโรควินนอกจากจะไม่ได้ช่วยรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 แล้ว ยังส่งผลให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook