ผลสำรวจฯ ชี้ คนเมือง – คนชนบทไทย รับสื่อและป้องกันตัวแตกต่างกันในภาวะโควิด-19

ผลสำรวจฯ ชี้ คนเมือง – คนชนบทไทย รับสื่อและป้องกันตัวแตกต่างกันในภาวะโควิด-19

ผลสำรวจฯ ชี้ คนเมือง – คนชนบทไทย รับสื่อและป้องกันตัวแตกต่างกันในภาวะโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากกว่า 2 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1.6 แสนคน รัฐบาลไทยจึงออกมาตรการเพื่อคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรค ทั้งมาตรการล็อกดาวน์ สั่งห้ามการเดินทางเข้าออกประเทศ และการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการยับยั้งการระบาดของโรค คือ “การสื่อสาร” ที่ภาครัฐใช้ เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในประเทศ ผลสำรวจเรื่อง “Behavioral Insights ของครอบครัวไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า พฤติกรรมการรับสื่อของคนเมืองและคนชนบทมีความแตกต่างกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการป้องกันตัวซึ่งมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง  

การสำรวจแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ คนในเขตเมือง คนจนเมือง คนชนบท และคนในชายแดนภาคใต้ ซึ่งในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น ผลสำรวจชี้ว่า การสื่อสารผ่านทางโทรทัศน์ยังมีบทบาทสำคัญ ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทุกกลุ่ม

ในขณะที่ครอบครัว เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง คนในชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และเสียงตามสาย มีบทบาทในการช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนชนบทมากกว่าคนเมือง ทั้งนี้ ผลสำรวจยังชี้ว่า “แม่” เป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในการป้องกันโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้น ต้องเน้นการสื่อสารตรงไปยังคนกลุ่มนี้ และจะช่วยให้โอกาสที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อของคนในบ้านลดน้อยลง ขณะเดียวกัน บทบาทของจังหวัดในการสื่อสารเรื่องโควิด-19 ก็มีความสำคัญในการสร้างความร่วมมือของประชาชน ผ่านชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และเสียงตามสาย

การแจ้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าโรคโควิด-19 เป็นเรื่องใกล้ตัว รวมถึงการสื่อสารเรื่องการไม่แสดงออกอาการของโรค และการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ง่าย นำไปสู่การปฏิบัติตัวตามแนวทางของสาธารณสุขมากขึ้นของประชาชน อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายทั้งหมด 4 กลุ่ม มีเพียงคนจนเมืองเท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองมีโอกาสติดโรคโควิด-19 มาก ขณะที่คนส่วนใหญ่คิดว่า ตนเองและคนในบ้านมีโอกาสติดน้อย จึงไม่ทำการรักษาระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมการทานอาหารร่วมกัน ไม่แยกสำรับ และมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ห้องนอนและห้องน้ำร่วมกันของประชาชนกลุ่มคนจนเมือง คนชนบท และคนในชายแดนใต้ ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐได้

การสื่อสารมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความร้ายแรงของโรค และวิธีการปฏิบัติตัวตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ สิ่งสำคัญของการสื่อสารในช่วงโควิด-19 คือ ความชัดเจน ใช้คำที่เข้าใจง่าย และเข้าใจตรงกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ยังมีความสับสนในหมู่ประชาชนอยู่ เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook