ผู้เชี่ยวชาญเผยวิธีจัดการการใช้ “โซเชียลมีเดีย” ช่วงล็อกดาวน์ “COVID-19”
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่แทบจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้หันมาพึ่งพาสมาร์ทโฟนมากขึ้น เนื่องจากเรายังคงจำเป็นต้องติดต่อกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน บางคนต้องพยายามรักษาวิถีชีวิตแบบเดิม เช่น การออกกำลังกาย ดังนั้น กิจกรรมอย่างการพูดคุยผ่านวีดิโอแชท คลาสฟิตเนสออนไลน์ และการเลื่อนหน้าจอโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ จึงทำให้คนเราใช้เวลามากมายไปกับหน้าจอโทรศัพท์โดยที่เราไม่รู้ตัว
เมื่อเราต้องตกอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถติดตามข่าวสารและพักผ่อนหย่อนใจจากความวิตกกังวลต่างๆ แต่เมื่อเราต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะจัดการเวลาที่อยู่หน้าจออย่างไรให้เกิดประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
คุณภาพของการใช้เวลากับหน้าจอสำคัญกว่าปริมาณ
ดร.อลิซ กู๊ด อาจารย์อาวุโสจากภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท อธิบายว่า “กฎข้อห้ามเกี่ยวกับอิสรภาพในการเคลื่อนที่ของประชาชน” ในขณะนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของประชาชน เช่น บางคนอาจพบว่าตัวเองแปลกแยกจากสิ่งรอบตัว ดังนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจจะกลายเป็นวิถีที่สำคัญอย่างยิ่งของชีวิต ไม่ใช่แค่การช่วยให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันทางสังคม ในขณะที่ต้องอยู่ห่างกัน
“สิ่งที่เราต้องพิจารณาไม่ใช่ว่าเราใช้เวลาอยู่หน้าจอเท่าไร แต่เราเลือกที่จะใช้หน้าจออย่างไร หน้าจอของเรากลายเป็นช่องทางที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ สร้างขวัญและกำลังใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเพื่อฟื้นฟูสังคมที่ค่อยๆ ถดถอย เราจะเข้มแข็งและยืดหยุ่นไปด้วยกัน” ดร.กู๊ดกล่าว
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่า เราควรพยายาม “ตระหนักถึงระยะเวลาที่เราใช้ไปกับหน้าจอในแต่ละวัน” และจำเป็นต้อง “พักจากกิจกรรมที่อยู่หน้าจอ”
ยิ่งกว่านั้น การที่โรงเรียนปิดและทุกคนจำเป็นต้องอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ต้องหากิจกรรมให้ลูกทำในแต่ละวัน และหน้าจอก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น ดร.กู๊ดกล่าวว่า พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เนื่องจากการใช้หน้าจอกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว
เบคกา คอว์ธอร์น เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการสื่อสารของ Childnet International กล่าวว่า พ่อแม่และผู้ปกครองควรคำนึงถึงสิ่งที่เด็กๆ ทำบนโลกออนไลน์มากกว่าระยะเวลาที่เด็กๆ ใช้อยู่หน้าจอ
“ในภาวะแบบนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่เด็กๆ จะใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทำให้หลายคนกังวลใจ” คุณคอว์ธอร์นกล่าว พร้อมแนะนำว่า ผู้ปกครองควรตัดสินใจร่วมกับเด็กๆ ว่าควรใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในเวลาใด ตกลงกันว่าเมื่อไรจึงจะใช้อุปกรณ์ร่วมกับพ่อแม่ และวางขอบเขตการใช้งานอุปกรณ์ให้ชัดเจน
แคโรลีน บันติง ซีอีโอขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Internet Matters แนะนำว่า พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกใช้เวลาหน้าจออย่างมีวัตถุประสงค์ ซึ่งรวมถึงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์
จับตาดูโซเชียลมีเดีย
ขณะที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสุดวิเศษที่ทำให้ผู้คนรวมใจเป็นหนึ่งในภาวะวิกฤต แต่เครื่องมือนี้อาจสร้างความวิตกกังวลด้วยเนื้อหาที่นำเสนออยู่บนโซเชียลมีเดียเหล่านั้น เพราะฉะนั้น หากคุณรู้สึกวิตกกังวลเมื่อใช้โซเชียลมีเดียในบรรยากาศเช่นนี้ มูลนิธิสุขภาพจิต (Mental Health Foundation) แนะนำให้ประเมินวิธีการใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม อย่างทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก ให้เหมาะกับตัวคุณ และถามตัวเองว่าจำเป็นต้องมีการปรับการใช้เวลาหรือไม่ มีแอคเคาท์ใดหรือบุคคลใดทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่ หากมี ควรพิจารณาว่าจะเลิกติดตามหรือปิดการแจ้งเตือนเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจ
คริส โอ ซัลลิแวน หัวหน้าแผนกระดมทุนและการสื่อสาร จากมูลนิธิสุขภาพจิต ในสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ แนะนำให้โฟกัสความสนใจส่วนใหญ่ของคุณไปที่ “เรื่องดีๆ” เมื่อต้องใช้โซเชียลมีเดีย เช่น สิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข มีแรงบันดาลใจ หรือสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนที่คุณรัก ขณะเดียวกัน เมื่อต้องแชร์คอนเทนต์ใดๆ ก็ควรทำด้วยความใส่ใจ ควรคำนึงถึงสุขภาพจิตของผู้อื่นด้วย
“ลองคิดดูว่าคุณกำลังแชร์อะไรและใครจะมองเห็นได้บ้าง คอนเทนต์บางอย่างที่คุณแชร์โดยไม่คิดอะไร อาจจะทำให้บางคนรู้สึกหงุดหงิดหรือเครียด โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้” คุณโอ ซัลลิแวน กล่าว
ดร.กู๊ดเน้นย้ำว่า มีข้อมูลที่เกินจริงจนน่ารังเกียจบนโลกอินเตอร์เน็ต และไม่มีที่ใดที่จะเห็นชัดมากเท่ากับโลกโซเชียล”
“ขณะนี้สังคมเราเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจำเป็นที่คอยแต่จะโพสต์แสดงความคิดเห็นของตัวเอง หลายคนมีความอ่อนไหวต่อการปล่อยข่าวที่น่าตกใจและเชื่อในสิ่งที่คนเหล่านั้นเขียน” ดร.กู๊ดกล่าว
จะทำอย่างไรเมื่อต้องอ่านข่าวบนอินเตอร์เน็ต
การระมัดระวังในการใช้เวลาบนโลกโซเชียล และตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพจิต ถือเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เราไม่คุ้นเคยเช่นนี้ ซึ่งแนวทางนี้สามารถปรับใช้ได้กับระยะเวลาที่คุณใช้ในการอ่านข่าว เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยล้ากับการรับข้อมูลที่มากเกินไป
“พยายามลดข่าวที่คุณดู อ่าน หรือฟัง ที่ทำให้คุณรู้สึกกังวลหรือเครียด หาข้อมูลล่าสุดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวัน วันละครั้งหรือสองครั้งต่อวัน หากจำเป็น” องค์การอนามัยโลกแนะนำ
มูลนิธิสุขภาพจิตเสริมว่า เราจำเป็นต้องหาจุดสมดุล หากข่าวทำให้เราเครียดมากเกินไป โดยไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเสพข่าวทั้งหมด แต่จำกัดปริมาณข่าวที่คุณเสพ การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสามารถรับข้อมูลข่าวสารและหาความรู้ได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับข้อมูลที่มากเกินไป
นอกจากนี้ มูลนิธิสุขภาพจิตยังระบุว่า ข่าวลือสามารถก่อให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพเกี่ยวกับไวรัสจะช่วยให้คุณรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้มากกว่า
ดร.กู๊ดเสริมว่า เนื่องจากมีข้อมูลที่เกินจริงอยู่เป็นจำนวนมากในอินเตอร์เน็ต เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการฟังมุมมองของ “ผู้เชี่ยวชาญจำเป็น” และควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับช่องทางตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสที่น่าเชื่อถือด้วย