กสศ. ชี้ ผลกระทบ “โควิด-19” ทำครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนไม่มีข้าวกิน

กสศ. ชี้ ผลกระทบ “โควิด-19” ทำครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนไม่มีข้าวกิน

กสศ. ชี้ ผลกระทบ “โควิด-19” ทำครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนไม่มีข้าวกิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งแก้ไขปัญหาครอบครัวของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระดมแนวทางจากครูและผู้ปกครองกว่า 1,000 คนเพื่อช่วยกลุ่มนักเรียนที่กำลังประสบปัญหา พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่ม 300 ล้านบาทเพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้ถึงปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวเด็กยากจน และเด็กยากจนพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่เรื่องของอาหาร และสวัสดิภาพความปลอดภัย สพฐ. จึงได้ร่วมมือกับ กสศ. ทำการสำรวจผลกระทบและหาแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งการสำรวจใช้วิธีการระดมข้อมูลและประสบการณ์จากสังคมผ่านทางโทรศัพท์และแบบสอบถามออนไลน์ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง จำนวน 1,100 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษ กังวลต่อผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับมากถึงมากที่สุด  ซึ่งประเด็นที่เป็นผลกระทบมากที่สุดได้แก่

  1. ไม่มีอาหารรับประทาน
  2. ถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง
  3. ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว
  4. การศึกษาเล่าเรียนของคนในครอบครัว
  5. ปัญหาสุขภาพ

ข้อสรุปที่ได้จากการระดมข้อมูลเพื่อแนวทางแก้ไขปัญหา ชี้ว่า ระยะเวลาอีกเกือบ 3 เดือนก่อนที่จะเปิดเทอมถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างมากสำหรับเด็กเยาวชนที่ครอบครัวมีรายได้น้อย หากได้รับการช่วยเหลือที่ตรงจุดและทันเวลา เด็กนักเรียนเหล่านี้จะสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีบทบาท เช่น สถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษา ต้องประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบในระดับรุนแรง โดยเฉพาะด้านโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร นม และน้ำสะอาด

ครูและบุคคลกรทางการศึกษาล้วนแล้วแต่มีความเสียสละไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ กสศ. จึงยกย่องและให้ความสำคัญกับประสบการณ์และคำแนะนำของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่ยากจนมากกว่า 200,000 คน พร้อมทั้งช่วยเหลืออย่างแม่นยำและตรงจุดมากที่สุด

ทั้งนี้ กสศ. ขอเชิญชวนครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและนักเรียน ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียน โดยให้ข้อมูลผ่าน ww.eef.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook