7 มาตรการไม่ธรรมดา รับมือ COVID-19 ทั่วโลก

7 มาตรการไม่ธรรมดา รับมือ COVID-19 ทั่วโลก

7 มาตรการไม่ธรรมดา รับมือ COVID-19 ทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ และอาจเรียกได้ว่า ไวรัสโคโรนาได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากแบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ไวรัสก็ต้องป้องกัน แต่งานก็ต้องทำ” หลายประเทศจึงพลิกแพลงมาตรการสู้ไวรัสให้กระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนให้น้อยที่สุด และนี่คือ “มาตรการรับมือ COVID-19 แบบไม่ธรรมดา” ที่สำนักข่าว CNN รวบรวมมาไว้ในที่เดียว

ห้องเรียน 2.0

สำหรับหลายประเทศ โรงเรียนเป็นสถานที่แรกๆ ที่ต้องกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถออกไปทำงาน และเพื่อให้เด็กๆ กลับไปเรียนได้ตามปกติ โดยในประเทศเดนมาร์กได้มีการกั้นเทปเพื่อแบ่งเขตในสนามของโรงเรียน และแบ่งจำนวนนักเรียนแต่ละห้องให้น้อยลง เพื่อให้นักเรียนสามารถนั่งเรียนห่างกัน 2 เมตร ในห้องเรียนได้ นอกจากนี้ นักเรียนต้องสลับเวลามาโรงเรียนและพักกลางวัน ล้างมือเมื่อมาถึงโรงเรียน และล้างมือทุก 2 ชม. รวมทั้งมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนพื้นผิว เช่น อ่างล้างมือ ฝารองชักโครก และที่จับประตู 2 ครั้งต่อวัน

บัตรผู้มีภูมิคุ้มกัน

ประเทศชิลีจะออกบัตรผู้มีภูมิคุ้มกันแบบดิจิทัล (digital immunity card) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “บัตรโควิด” ให้กับผู้ที่หายขาดจากโรค COVID-19 หลังจากที่คนกลุ่มนี้กักตัวเพิ่มอีก 14 วัน เช่นเดียวกับทางสหราชอาณาจักร ที่กำลังเฟ้นหาแนวคิดเกี่ยวกับ “ใบรับรองภูมิคุ้มกัน” หรือพาสปอร์ต เพื่อให้ผู้ที่มีแอนติบอดีสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ด้าน ดร.แอนโธนี ฟอซี จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ก็ระบุว่า แนวคิดที่จะให้ชาวอเมริกันถือบัตรรับรองภูมิคุ้มกัน เพื่อพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีแอนติบอดีต้านเชื้อไวรัสโคโรนาน่าจะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์เฉพาะ

ล็อกดาวน์เฉพาะวันหยุด

ประเทศตุรกีมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะวันหยุด โดยประกาศเคอร์ฟิว 48 ชม. ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 1 ใน 3 ของพื้นที่ 31 จังหวัด ในวันธรรมดา ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 65 ปี จะต้องอยู่แต่ในบ้าน ในขณะที่ประชาชนในช่วงอายุอื่นๆ สามารถออกนอกบ้านได้ แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กจะปิดทำการ ร้านอาหารเปิดขายเฉพาะแบบรับกลับและเดลิเวอรี ส่วนพื้นที่สาธารณะเปิดบริการแบบจำกัดเขต และธนาคารเปิดตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น ส่วนในประเทศลิเบีย ประชาชน “ได้รับอนุญาตให้เดิน” ในช่วงเวลา 7.00 น. – 12.00 น. เท่านั้น และร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการในช่วงเวลานี้เช่นกัน

กฎข้อห้ามตามอายุ

นอกจากประเทศตุรกีที่ห้ามคนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือผู้ที่อายุเกิน 65 ปี ออกจากบ้านแล้ว สวีเดนก็มีการกำหนดให้ผู้ที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ต้องอยู่แต่ในบ้าน และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์ริค สหราชอาณาจักร เสนอให้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ สามารถออกจากมาตรการล็อกดาวน์ก่อนได้

ล็อกดาวน์ตามเพศ

ประธานาธิบดีมาร์ติน วิซคาร์รา แห่งเปรู ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ว่าจะมีการใช้มาตรการตามเพศของประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าใครควรหรือไม่ควรออกจากบ้าน โดยผู้ชายสามารถออกจากบ้านได้ในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ส่วนผู้หญิงจะออกจากบ้านได้ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์

ส่วนประเทศปานามาก็ใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยระบุว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นให้ประชาชนอยู่บ้าน เนื่องจากคนที่พวกเขารักไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านมาด้วยได้ ขณะเดียวกัน หลายเมืองในโคลอมเบีย ซึ่งรวมถึงกรุงโบโกตา เมืองหลวง ก็อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงสลับวันกันออกมาจากบ้านเช่นกัน

มาตรการจับสลาก

บางพื้นที่ในประเทศโคลอมเบียมีการใช้มาตรการเพิ่มเติม เช่น เมืองคาลีและเมเดลิน อนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านได้ตามเวลาที่กำหนด โดยขึ้นอยู่กับตัวเลขในบัตรประชาชน ซึ่งวิธีการนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประกอบอาชีพที่จำเป็น

รัฐจับตาดูประชาชนอยู่

หลายประเทศหันมาใช้โดรนในการจับตาดูความเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วงล็อกดาวน์ โดยหน่วยงานการบินพลเรือนแห่งชาติของอิตาลีใช้โดรนจับตาดูประชาชนตั้งแต่เดือนมีนาคม ไม่นานหลังจากนั้น สหราชอาณาจักรก็ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยตำรวจนายหนึ่งโพสต์ภาพฟุตเทจจากโดรน ซึ่งเป็นภาพของประชาชนกำลังเดินอยู่ในอุทยานแห่งชาติในเดอร์บีเชียร์ ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการรุนแรงของรัฐบาล

นอกจากนี้บริษัทโดรนเชิงพาณิชย์อย่าง Draganfly ก็ได้ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย ในการสร้าง “โดรนโรคระบาดใหญ่” หรือ "pandemic drones" เพื่อจับตาดูอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ รวมทั้งตรวจจับผู้ที่จามหรือไอในพื้นที่แออัด” เช่นเดียวกับจีนและคูเวต ที่ใช้ “โดรนพูดได้” (talking drones) ในการสั่งให้ประชาชนกลับเข้าบ้าน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook