นักวิทย์จีนเผย “ไวรัสโคโรนา” กลายพันธุ์ได้ถึง 33 สายพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 33 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไวรัสชนิดนี้มีอันตราย พร้อมทั้งเตือนให้นักพัฒนาวัคซีนต้องคำนึงถึงการกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางที่น่ากลัวดังกล่าว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ประเทศจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์หลี่ หลานจวน หนึ่งในนักวิจัยชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกๆ ที่เสนอมาตรการล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น ต้นทางการระบาดของโรค COVID-19 กล่าวว่า พวกเขามี “หลักฐานชั้นต้น” ที่พิสูจน์ว่าเชื้อไวรัส “มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงความสามารถในการก่อโรคอย่างเป็นรูปธรรม”
ในการวิจัย มีการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย 11 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายแห่งในนครหางโจว ระหว่างวันที่ 22 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะต้นของการระบาด จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการวิเคราะห์ลำดับเชิงลึก (ultra-deep sequencing) จนสามารถระบุการกลายพันธุ์ได้ 33 สายพันธุ์ ซึ่งมีสายพันธุ์ใหม่ 19 สายพันธุ์ และหนึ่งในนั้นคือเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 รวมทั้งมีการประเมินค่าจำนวนของเชื้อไวรัส (viral load) ในเซลล์ของมนุษย์ ภายในระยะเวลา 1 ชม. 2 ชม. 4 ชม. และ 8 ชม. รวมทั้ง 48 ชม. ต่อมา โดยสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงที่สุด สามารถเพิ่มจำนวนได้ถึง 270 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด ซึ่งศาสตราจารย์หลี่กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ค่าจำนวนเชื้อไวรัสที่สูงนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงเช่นกัน
นอกจากนี้ รายงานจากสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า การกลายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดถูกพบในร่างกายของผู้ป่วยส่วนใหญ่ในยุโรป ขณะที่สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่า ถูกพบในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐวอชิงตัน
นักวิจัยระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึง “ความหลากหลายที่แท้จริงของสายพันธุ์ไวรัสที่ยังคงไม่ถูกค้นพบในวงกว้าง” และยังเตือนเหล่านักพัฒนาวัคซีนให้คำนึงถึงผลกระทบของการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางที่น่ากลัว