บทบาท “ผู้นำนานาชาติ” กับภาวะวิกฤติโควิด-19

บทบาท “ผู้นำนานาชาติ” กับภาวะวิกฤติโควิด-19

บทบาท “ผู้นำนานาชาติ” กับภาวะวิกฤติโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ไม่ได้ท้าทายเฉพาะระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยพิสูจน์บทบาทและความสามารถในการรับมือกับวิกฤติของผู้นำประเทศอีกด้วย ในขณะที่เชื้อไวรัสกำลังคุกคามสุขภาพของประชาชน และการล็อกดาวน์ก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ผู้นำแต่ละประเทศก็มีวิธีการจัดการกับปัญหาที่ประดังเข้ามาแตกต่างกันไป รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน ซึ่งสะท้อนตัวตนของผู้นำผ่านท่าทีในการสื่อสาร ผู้นำแต่ละประเทศรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไร และผลที่ตามมาจากการต่อสู้กับเชื้อไวรัสในครั้งนี้มีอะไรบ้าง Sanook ได้รวบรวมมาให้คุณแล้ว

ฌาอีร์ โบลโซนารู –บราซิล

ประธานาธิบดีของบราซิลเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยประกาศให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ และตำหนิผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ที่ประกาศใช้มาตรการกักตัว รวมถึงการปิดโรงเรียนและร้านค้าเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

“หากฝนตก เราทุกคนก็ต้องเปียก และมีบางคนที่จะจมน้ำฝนตาย” ประธานาธิบดีฝ่ายขวากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเพิกเฉยต่อการระบาดใหญ่ และมองว่าเป็นสิ่งที่หลายคนจินตนาการไปเอง พร้อมกันนี้ โบลโซนารูยังคิดว่าการปิดระบบเศรษฐกิจจะส่งผลต่อโอกาสที่เขาจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มี.ค. 2563 ประชาชนตามเมืองใหญ่ของบราซิลก็ได้ออกมาเคาะหม้อและกระทะเพื่อแสดงความไม่พอใจการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ล่าช้าของรัฐบาล

โดนัลด์ ทรัมป์ – สหรัฐอเมริกา

โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและคำวิจารณ์จากการรับมือกับโรคโควิด-19 ของเขา ประชาชนชาวอเมริกันร้อยละ 50 ระบุว่าพวกเขาพอใจวิธีการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่มีเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่มองว่าทรัมป์ได้แสดงภาวะผู้นำหรือมีท่าทีที่เด็ดเดี่ยวในภาวะวิกฤติเช่นนี้

พรรคเดโมแครตได้กล่าวตำหนิทรัมป์ต่อความล่าช้าในการรับมือกับโรคโควิด-19 โดยในช่วงแรก เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการระบาดของโรคและไม่มีการเตรียมพร้อม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนทรัมป์ก็กล่าวชื่นชมที่เขาประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศจีนและประเทศในแถบยุโรปอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศเลิกให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากที่กล่าวหาว่า WHO เข้าข้างประเทศจีนมากเกินไป รวมถึงการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด ยิ่งกว่านั้น ทรัมป์ยังประกาศเปิดเศรษฐกิจของประเทศในวันที่ 1 พ.ค. 2563 ซึ่งขัดแย้งกับข้อคิดเห็นของผู้ว่าการรัฐหลายคนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข เช่น นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี เป็นต้น

สี จิ้นผิง – จีน

ประเทศจีนถูกกล่าวหาว่าปิดบังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรกที่ยังง่ายต่อการควบคุม อย่างไรก็ตาม จีนก็ประกาศใช้มาตรการกักตัวประชาชนหลายล้านคนในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดของโรค ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศจีน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สั่นคลอนอำนาจของสี จิ้นผิงอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยและการกำกับดูแลประชาชนของภาครัฐ โดยสี จิ้นผิงแทบไม่ออกหน้าในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคในประเทศพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับการประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น สี จิ้นผิงก็ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกครั้ง พร้อมทั้งประกาศให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรค

จาซินดา อาร์เดิร์น – นิวซีแลนด์

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น รับมือกับภาวะวิกฤติได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช เหตุการณ์ภูเขาไฟวากาอาริ บนเกาะไลท์ ปะทุอย่างฉับพลัน และภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตอนนี้ ซึ่งส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 4 ราย ก็พิสูจน์ให้เห็นฝีมือของอาร์เดิร์นอย่างไร้ข้อกังขา

อาร์เดิร์นเลือกใช้มาตรการรับมือที่ “หนักและรวดเร็ว” โดยเธอประกาศล็อกดาวน์ประเทศในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งการใช้มาตรการที่เด็ดขาดสร้างความตกใจให้กับประชาชนชาวนิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก แต่อาร์เดิร์นก็คลี่คลายสถานการณ์ด้วยการใช้ภาษาที่ชัดเจนและเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ พร้อมขอให้ทุกคนเอื้อเฟื้อต่อกัน และในคืนแรกที่ประเทศล็อกดาวน์ อาร์เดิร์นก็ปรากฏตัวในเฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อพูดคุยและตอบคำถามประชาชนในประเทศ

ไช่ อิงเหวิน – ไต้หวัน

ระบบเศรษฐกิจปิดและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับประเทศจีน น่าจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไต้หวันอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ไต้หวันกลับมีมาตรการรับมือโรคระบาดที่น่าประทับใจ ซึ่งในช่วงระยะเวลาเกือบ 3 เดือนของการแพร่ระบาดหลังจากมีผู้ติดเชื้อรายแรก ไต้หวันมียอดผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 400 ราย และเสียชีวิตเพียง 5 ราย ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจและโรงเรียนก็ยังเปิดทำการตามปกติ

รัฐบาลของไช่ อิงเหวิน เรียนรู้จากวิกฤติโรคซาร์สในปี 2003 พร้อมกับใช้วิธีการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด มีการตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ทันทีที่ประเทศจีนออกเตือนเรื่องโรคปอดอักเสบชนิดใหม่

บอริส จอห์นสัน – สหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการสื่อสารกับประชาชนของเขา ที่หลายคนมองว่าไร้ซึ่งความโปร่งใส ในการแถลงข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งหนึ่งของจอห์นสัน เขาพูดถึงแผนการณ์ที่ชัดเจนในการควบคุมโรค แต่ให้รายละเอียดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้สหราชอาณาจักรมีตำแหน่งรั้งท้ายในเรื่องของการต่อสู้กับเชื้อไวรัส และส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้าง

ยิ่งไปกว่านั้น บอริส จอห์นสัน ยังเคยได้กล่าวถึง “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity) โดยแนะนำให้ประชาชนติดโรคจำนวนมากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเขากล่าวว่า “หลายครอบครัวจะต้องสูญเสียคนที่รักไปก่อนกำหนด” อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้เปลี่ยนคำพูด และประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ พร้อมขอให้ประชาชนอาศัยอยู่แต่ในบ้าน

อย่างไรก็ตาม จอห์นสันกลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และต้องรักษาตัวนานกว่า 10 วัน ก่อนที่จะย้ายเข้าห้อง ICU เนื่องจากมีอาการแย่ลง แต่ในที่สุดเขาก็ได้รับการรักษาจนหายขาด และได้ปรากฏตัวอีกครั้งในวิดีโอที่เผยแพร่ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเขาเล่ารายละเอียดการป่วยของตัวเอง พร้อมกับกล่าวขอบคุณทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลเขาเป็นอย่างดี

เอ็มมานูเอล มาครง – ฝรั่งเศส

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้ขอให้ประชาชนเตรียมตัวเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19 ในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ของเขาทั้ง 4 ครั้ง มาครงประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ให้ความรู้สึกถึงการสู้รบซึ่งเขาย้ำกับประชาชนว่า “ประเทศของเรากำลังเผชิญหน้ากับสงคราม” แต่ในสัปดาห์ต่อมา เขาก็มีท่าทีที่อ่อนลง และขอโทษต่อความผิดพลาดที่ไม่แจกจ่ายหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกันนี้ เขายังสั่งการให้เก็บหน้ากากอนามัยทั่วประเทศไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเท่านั้น

ในวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา มาครงก็ได้ประกาศล็อกดาวน์เพิ่มอีก 1 เดือน และกล่าวขอโทษประชาชนฝรั่งเศสอีกครั้ง พร้อมทั้งยอมรับว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับวิกฤติโรคโควิด-19 ดีเท่าที่ควร

โรดรีโก ดูเตร์เต – ฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดูเตร์เตได้สั่งระงับการออกวีซ่าให้แก่ชาวต่างชาติ และมีคำสั่งปิดกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ ปิดโรงเรียนและยกเลิกกิจกรรมทางการเมือง พร้อมใช้มาตรการกักกันโรคระดับชุมชน ที่ส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงถึงร้อยละ 55 ในช่วง 24 วันที่ผ่านมา

ดูเตร์เตกล่าวว่า ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังแย่ลงเรื่อย ๆ ทุกคนจำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล โดยเขาอนุญาตให้ทหารและตำรวจยิงประชาชนที่ก่อปัญหาหรือฝ่าฝืนมาตรการของรัฐได้เลย ซึ่งคำขู่ของเขาเกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านในชุนชมแออัดประท้วงแสดงความไม่พอใจเรื่องการแจกอาหาร และนำไปสู่การกระทบกระทั่งกัน

อังเกลา แมร์เคิล – เยอรมนี

ในการแถลงข่าวครั้งหนึ่งของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เธอได้ทำให้หลายคนต้องตกใจกับถ้อยคำแถลงของเธอ ที่มีใจความว่า ประชาชนชาวเยอรมันกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผู้นำหลายคนพยายามใช้วิธีเอาน้ำเย็นเข้าลูบ แมร์เคิลกลับทำสวนทาง แต่ความไม่อ้อมค้อมของเธอก็กลายเป็นจุดแข็ง

“นี่เป็นเรื่องจริงจัง ที่เราทุกคนต้องรับมือกับมันอย่างจริงจัง” แมร์เคิลกล่าว และชี้ว่าวิกฤตินี้เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่ประเทศเยอรมนีต้องเผชิญ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ความเข้มแข็งและการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของแมร์เคิล ทำให้เยอรมนีมีแผนการณ์ที่จะคลายมาตรการบางส่วนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ความใส่ใจในรายละเอียดของเธอและแผนการที่ระวัดระวังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทำให้แมร์เคิลได้รับเสียงชื่นชมอีกครั้ง

ประยุทธ์ จันทร์โอชา – ไทย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 โดยเน้นขอความร่วมมือการเปิด-ปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และบริการต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากเคหสถานระหว่าง 22:00 น. – 04:00 น. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 เว้นแต่มีเหตุจำเป็น พร้อมกันนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังประกาศมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ทั้งโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน รวมถึงการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคเกษตรกรรม

แม้ว่าการรับมือของรัฐบาลไทยต่อภาวะโรคโควิด-19 ระบาดจะได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ แต่หลายมาตรการก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เช่น มาตรการปิดสถานบริการต่าง ๆ ที่นำไปสู่ปัญหาการขาดรายได้และตกงาน หรือการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่สุดท้ายไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุม เป็นต้น ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook