“เกรียตา ธุนแบร์ก” เรียกร้องวิถีชีวิตใหม่ หลังการระบาดใหญ่ “COVID-19”

“เกรียตา ธุนแบร์ก” เรียกร้องวิถีชีวิตใหม่ หลังการระบาดใหญ่ “COVID-19”

“เกรียตา ธุนแบร์ก” เรียกร้องวิถีชีวิตใหม่ หลังการระบาดใหญ่ “COVID-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เกรียตา ธุนแบร์ก” นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กระตุ้นเตือนให้ผู้คนทั่วโลกหันมาใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ หลังจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เธอมองว่า ผลจากการระบาดใหญ่นี้พิสูจน์แล้วว่า “สังคมของเราไม่ยั่งยืน”

นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนผู้นี้ระบุว่า การตอบสนองในระดับสากลต่อโรค COVID-19 แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมนุษยชาติร่วมมือกันและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ และหลักการเดียวกันนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้โลกของเราแตกต่างจากสิ่งที่เคยเป็นอยู่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน และอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราจำเป็นต้องเลือกหนทางใหม่ในอนาคตข้างหน้า” เธอกล่าวกับผู้ชมผ่าน YouTube เนื่องในวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day ครั้งที่ 50

“วิกฤตไวรัสโคโรนาแสดงให้เราเห็นว่าสังคมของเราไม่ยั่งยืน หากไวรัสตัวเดียวสามารถทำลายระบบเศรษฐกิจลงได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ นั่นแปลว่าเรายังไม่ได้คิดถึงอนาคตในระยะยาวและเตรียมการรับความเสี่ยงเลย”

ก่อนหน้านี้ ธุนแบร์กได้พูดคุยกับโยฮัน ร็อคสตรอม นักวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบและผู้อำนวยการสถาบันพอตสดัม โดยร็อคสตรอมกล่าวว่าโรคระบาดใหญ่กับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ขาด นั่นคือ การตัดไม้ทำลายป่าและการค้าสัตว์ป่าส่งผลให้ไวรัสมีแนวโน้มที่จะก้าวข้ามพรมแดนของสปีชีส์ ส่วนมลภาวะทางอากาศก็ทำให้มนุษย์เปราะบางกว่าเดิม เนื่องจากระบบทางเดินหายใจที่อ่อนแอลง รวมทั้งการเดินทางทางอากาศที่ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม

“วิถีชีวิตของพวกเรานั้นเกินกว่าที่โลกจะรับไหว ดังนั้น เราเองนั่นแหละที่ทำให้สุขภาพของมนุษย์และธรรมชาติตกอยู่ในความเสี่ยง” ร็อคสตรอมกล่าว

มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้การปล่อยมลภาวะลดลง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด และทำให้โลกร้อนขึ้นในระดับที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ทั้งธุนแบร์กและร็อคสตรอมย้ำว่า ไวรัสไม่ควรถูกมองว่าเป็นยาครอบจักรวาลที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไวรัสนี้ทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความยากลำบาก และเป็นเพียงการยืดเวลาออกไปชั่วคราว รวมทั้งยังรบกวนการรณรงค์ การวิจัย และการประชุมนานาชาติ ที่มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสะอาดที่ราบรื่นกว่า

ทั้งคู่กล่าวว่า บทเรียนสำคัญจากโรคระบาดใหญ่นี้คือ รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังคำเตือนทางวิทยาศาสตร์

“เราประเมินผลกระทบต่ำไป เราจำเป็นต้องสร้างเครื่องรองรับผลกระทบให้กับระบบ ทุกวันนี้ทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงความไม่แน่นอนและระมัดระวังมากขึ้น และยังใส่ใจกับสภาพภูมิอากาศ เราไม่อาจรู้ได้แน่นอนว่าเราจะเข้าสู่ภาวะโลกร้อนเมื่อไร ดังนั้น ผมก็หวังว่าเราจะผ่านพ้นภาวะการระบาดใหญ่ไปด้วยความตระหนักที่วิทยาศาสตร์แสดงให้เราเห็น ผมเชื่อว่าจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นจากกองเถ้าถ่านของวิกฤตไวรัสโคโรนา เราเกิดใหม่จากสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่การกระโดดกลับไปยังโลกเก่า” ร็อคสตรอมกล่าว

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวปาฐกถาเนื่องในวันคุ้มครองโลกว่า โรคระบาดใหญ่เป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่โลกต้องเผชิญ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนการฟื้นฟูหลังการระบาดใหญ่ ควรเน้นที่เป้าหมาย 6 ประการ ได้แก่ การสร้างงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนผู้เสียภาษีให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากคอนกรีตสีเทาเป็นธรรมชาติสีเขียว การลงทุนเพื่ออนาคตแทนที่จะลงทุนเพื่ออดีตด้วยการหยุดสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การรวมความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับระบบการเงิน และความร่วมมือระหว่างประเทศ

“เราต้องปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำในภาวะวิกฤต ทุกคนรู้ว่าเราจะผ่านพ้นมันไปด้วยกัน ดังนั้นต้องทำอย่างเต็มที่” ธุนแบร์กกล่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook