4 วิธีรักษาความสัมพันธ์ขณะกักตัวช่วง COVID-19
แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะช่วยในการชะลอการระบาดของโรค COVID-19 แต่ก็ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนไม่น้อย นอกจากนี้ มาตรการในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ยังอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เช่นกัน จนมีทนายความด้านการหย่าร้างหลายคนคาดการณ์ว่าในปีต่อๆ ไป จะมีคู่สมรสที่หย่าร้างกัน เนื่องจากมาตรการกักตัวดังกล่าว
ไอเดน โจนส์ ผู้บริหารระดับสูงของ Relate องค์กรการกุศลด้านความสัมพันธ์ ระบุว่า ความสัมพันธ์ของคนเรานั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แต่การกักตัว การเว้นระยะห่างทางสังคม และความกังวลเกี่ยวกับการเงินและเรื่องอื่นๆ อาจก่อให้เกิดความกดดันได้ เพราะฉะนั้น การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
อย่าคิดไปเองว่าเขาจะรู้สึกเหมือนเรา
สถานการณ์ไวรัสโคโรนาเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่แค่ในระดับสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นระดับความสัมพันธ์ของคนทั่วไปด้วย คุณอาจจะต้องรับมือกับช่วงเวลาแห่งการทดสอบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ใหม่ อีฟา ดรูรี นักบำบัดด้านความสัมพันธ์ กล่าวว่า กุญแจสำคัญคือการไม่คิดไปเองว่าอีกคนจะรู้สึกเหมือนกับเราทุกอย่าง
“การคิดเหมาเอาเองนั้นก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจ เนื่องจากเรามักจะมีความคาดหวังแบบผิดๆ วิธีแก้ปัญหาเรื่องการคิดไปเองก็คือ ต้องพูดคุยกันอย่างเปิดใจและชัดเจน โดยหลีกเลี่ยงการอ่านใจ ไม่มีใครเคยผ่านประสบการณ์โรคระบาดมาก่อน ดังนั้น เราต่างคนต่างก็มีวิธีการรับมือต่างกันออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่” ดรูรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่อคนเรารู้สึกกลัวหรือหงุดหงิด อาจทำให้ไม่สามารถพูดคุยอย่างเปิดใจได้ แต่ดรูรีกล่าวว่า ทั้งคู่จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์เชิงลบ เช่น ความโกรธหรือความหงุดหงิด ดังนั้น จึงต้องพยายามใส่ใจปฏิกิริยาตอบสนองของเรา วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ สื่อสารความรู้สึกเหล่านี้ออกไป ให้เวลากับตัวเองหรือบอกคนที่คุณรักว่าคุณกำลังสู้กับอารมณ์เหล่านี้ และบางครั้งอาจจะมีปฏิกิริยาโดยไม่ได้ตั้งใจ การสื่อสารความรู้สึกของตัวเองจะช่วยลดความเป็นไปได้ที่คุณจะแสดงออกด้วยวิธีการที่จะทำให้คุณเสียใจหรือเครียดมากขึ้นในภายหลัง
เคท มอยล์ นักจิตบำบัดด้านความสัมพันธ์ กล่าวว่า ความเครียดจะนำไปสู่การโทษกันไปมาได้ง่ายมาก และการโทษกันก็ไม่ช่วยอะไร เพราะฉะนั้น การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ พยายามสื่อสารให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น เมื่อคุณโกรธหรือเครียด ให้บอกว่า “ฉันรู้สึก...” แทนที่จะพูดว่า “ที่เธอทำแบบนี้ เธอทำให้ฉันรู้สึก...”
ยอมรับสถานการณ์ที่ทดสอบคุณ
ไอเดน โจนส์ จาก Relate กล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติสำหรับทุกคน จงเข้าใจว่าการทะเลาะกันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์นี้ สิ่งสำคัญก็คือ คุณจัดการกับมันอย่างไร หากคุณอยากจะโต้เถียงหรือทะเลาะ ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องอาจจะไปถึงสิ่งที่คุณคิดเกี่ยวกับไวรัส คุณอาจจะอยากรู้สถานการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่คู่ของคุณอาจจะใช้เวลาแต่ละวันไปเรื่อยๆ จงจำไว้ว่าคนเรามีวิธีการจัดการกับความเครียดที่แตกต่างกัน และวิธีของคุณอาจจะไม่ใช่แค่วิธีเดียวก็ได้
พยายามไม่เถียงกันในเรื่องใหญ่
โจนส์ระบุว่า แม้ว่าความตึงเครียดจะเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ก็ไม่ควรใช้เป็นโอกาสในการระบายอารมณ์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องบางเรื่องก็ควรหยุดไว้ก่อน
“บทสนทนาที่ใหญ่และซับซ้อนอาจจำเป็นต้องพักไว้ก่อน เมื่อคุณต้องรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อใครคนใดคนหนึ่งป่วยหรืออาจจะมีอาการของโรค บางคนอาจจะมีพ่อแม่ที่สูงอายุ หรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย เพราะฉะนั้น พยายามเข้าใจว่าคู่ของคุณอาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่างๆ จึงต้องเลือกและชั่งน้ำหนักว่าเรื่องที่ว่านั้นคุ้มค่าที่จะทะเลาะกันหรือไม่” โจนส์กล่าว
สร้างความมั่นใจว่าคุณไม่ได้ทำงานตลอดเวลา
เมื่อคุณและคู่ของคุณต้องทำงานที่บ้าน และพยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างงานกับการใช้ชีวิต และงานกับครอบครัว มอยล์กล่าวว่า ช่วงแรกจะค่อนข้างยากที่จะแยกระหว่างสองเรื่องนี้ และอาจจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงได้
“หากคุณต้องทำงานที่บ้าน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลบ้านและมีชีวิตส่วนตัว ให้กำหนดเวลาเอาไว้ เช่น ทำงานบ้านนอกเวลางาน หลายคนอาจจะต้องพยายามเป็นอย่างมากในการทำงานที่บ้าน เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น ไม่ควรสร้างความเครียดจากบ้านหรือจากการทำงานเพิ่ม”
นอกจากนี้ มอยล์ยังแนะนำให้หากิจกรรมที่ทั้งคู่สนใจทำร่วมกัน เช่น การดูซีรีส์เรื่องใหม่ด้วยกัน
ด้านเมอร์เรย์ แบล็กเคท ที่ปรึกษาด้านชีวิตคู่ กล่าวว่า “หากคุณทำงานที่บ้าน และพยายามจัดตารางกิจวัตรประจำวัน อย่าทำงานในชุดนอนทั้งวัน ต้องมีช่วงพักเบรกดื่มชา กาแฟ รับประทานอาหาร หรืออาจจะออกไปเดินเล่นรับออกซิเจน อย่านั่งทำงานทั้งวัน”