“ปัญหาสุขภาพจิต” ภัยเงียบของบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด-19

“ปัญหาสุขภาพจิต” ภัยเงียบของบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด-19

“ปัญหาสุขภาพจิต” ภัยเงียบของบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โมนิก้า”อายุรแพทย์ประจำอยู่ห้องไอซียู ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้คุ้นเคยกับสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องรับมือกับผู้ป่วยอาการหนักอยู่เสมอ กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ ห้องผ่าตัดถูกเปลี่ยนให้เป็นห้องไอซียู บุคลากรทางการแพทย์จากทุกฝ่ายถูกเรียกตัวให้เข้ามาช่วยงานในห้องฉุกเฉิน รวมถึงเพื่อนร่วมงานของเธอ 2 คน ที่ตอนนี้กลายเป็นผู้ป่วยในห้องไอซียู ขณะที่โมนิก้ารู้สึกภูมิใจในตัวเพื่อนร่วมงานของเธอที่เข้ามาร่วมเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ แต่เธอก็บอกว่า มันเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่ต้องต่อสู้กับโรคติดต่อที่น่ากลัว และยังไม่มีการรักษาที่แน่ชัดเช่นนี้

ที่แย่ไปกว่านั้น คือโมนิก้าตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเธอเชื่อว่าเธอนำโรคไปติดสามีของเธออีกด้วย ซึ่งขณะนี้ ทั้งคู่กำลังรักษาตัวอยู่ และอาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่สามีของเธออาการหนักมากกว่าเธอมาก โมนิก้าชี้ว่า ในขณะที่เธอทุ่มเทและยอมเสี่ยงทำงาน โรงพยาบาลก็ล้มเหลวที่จะปกป้องตัวเธอและครอบครัวของเธอ และเธอก็โทษตัวเองที่เป็นต้นเหตุให้สามีของเธอติดโรคโควิด-19

“มีความรู้สึกเหมือนกำลังจมลงไป ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลทำให้ผิดหวัง ระบบก็ทำให้เรา ในฐานะหมอผิดหวัง และยังไม่ปกป้องพวกเราด้วย แล้วฉันเองก็ไม่ได้ปกป้องครอบครัวของตัวเอง” โมนิก้ากล่าว

ในโรงพยาบาลทั่วโลก หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ กำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่ได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 160,000 คน ซึ่งการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ไม่เพียงหลงเหลือไว้ซึ่งยอดผู้เสียชีวิต แต่ยังทิ้งบาดแผลในจิตใจให้กับผู้คนที่รอดพ้นมันมาได้

คงใช้เวลาหลายปีที่จะเกิดความเข้าใจเรื่องปัญหาสุขภาพจิตจากภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างถ่องแท้ แต่การศึกษาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นผลกระทบของโรคนี้บ้างแล้ว เช่น การศึกษาที่ปรากฏในนิตยสารทางการแพทย์ JAMA ที่ทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด 1,257 คน ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศจีน พบว่า ร้อยละ 50.4 มีปัญหาโรคซึมเศร้า ร้อยละ 44.6 มีปัญหาโรควิตกกังวล ร้อยละ 34 มีปัญหานอนไม่หลับ และร้อยละ 71.5 มีปัญหาโรคเครียด ซึ่งพยาบาลและบุคลากรที่ทำงานอยู่แนวหน้าเป็นกลุ่มที่มีอาการเหล่านี้มากที่สุด

พยาบาลและหมอบางส่วนกล่าวว่า การต่อสู้กับโรคโควิด-19 ทำให้พวกเขารู้สึกทุ่มเทกับการทำงานมากขึ้น และตั้งใจที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยของพวกเขา อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนก็ยอมรับว่า มีความรู้สึกในทางลบเกิดขึ้นในใจ พวกเขากลัวว่าจะนำโรคไปติดคนในครอบครัว รู้สึกหงุดหงิดเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค และความรู้สึกว่าพวกเขายังดูแลผู้ป่วยได้ไม่ดีพอ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหลายชั่วโมงโดยไม่มีเวลาเลิกงานที่แน่นอน และที่สำคัญที่สุด คือรู้สึกเสียใจที่ผู้ป่วยของพวกเขาเสียชีวิต ผู้ป่วยหลายคนเสียชีวิตโดยไร้คนรักหรือคนในครอบครัวอยู่เคียงข้าง

การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของผู้ป่วยสร้างความเจ็บปวดให้กับบุคลากรทางการแพทย์หลายคน นาตาลี โจนส์ พยาบาลวิชาชีพในห้องไอซียู ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโรเบิร์ต วูด ฮามิลตัน ในนิวเจอร์ซี กล่าวว่า การขอให้คนที่ต้องการมาดูใจคนที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้ายกลับบ้านไป เป็นความรู้สึกที่ทุกข์ทรมานมาก เธอพยายามหาวิธีที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจมากที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ อย่างเช่นในสัปดาห์ที่แล้ว เธอส่งต่อข้อความของภรรยาผู้ป่วยคนหนึ่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ใจความว่า“พวกเขาทุกคนรักเขา และไม่เป็นไรหากเขาจะไป” แต่การส่งต่อข้อความที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ก็กลายเป็นบาดแผลในใจของคนทำงานเช่นกัน

“เราแบกรับภาระของครอบครัวด้วยเช่นกัน และเราก็เข้าใจดีว่ามันยากมากที่พวกเขาไม่สามารถไปอยู่ตรงนั้นได้ พวกเราเองก็เจ็บปวด ในฐานะพยาบาล เราเป็นผู้รักษา และเราก็เห็นอกเห็นใจ มันทิ่มแทงจิตใจของพวกเราเช่นเดียวกัน”

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่ไม่ได้ลงไปทำงานจริงด้วยเช่นกัน นับตั้งแต่เกิดการระบาด ดร.มอร์แกน แคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในการรับมือกับโรคโควิด-19 ก็ประสบปัญหาการขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่เธอเชื่อว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม กับสิ่งที่เป็นไปได้ในสภาวะวิกฤติ ศูนย์ดูแลหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและการตรวจที่ไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงความรู้สึกที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้

“มันน่าเศร้ามาก ฉันเห็นใจพยาบาลเหล่านี้มาก เพราะฉันเชื่อว่าพวกเขาพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ฉันไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการปกป้องอย่างที่พวกเราต้องการปกป้องพวกเขา” แคทซ์กล่าว

การหาวิธีช่วยเหลือและดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์อาจเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ดร.อัลเบิร์ต วู อาจารย์ประจำภาควิชานโยบายและการจัดการสาธารณสุข คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก กล่าวว่า หลักฐานจากการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ชี้ว่าความล้มเหลวในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงภาวะวิกฤติ จะนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน เจ้าหน้าที่บางคนอาจลาออกจากงาน ไม่มาทำงานบ่อยขึ้น หรือเกิดภาวะของโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ก็คือมนุษย์เช่นเดียวกับเราทุกคน และภายใต้ความเครียดที่มากมาย อาจส่งผลให้พวกเขาทำงานผิดพลาด ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง

อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์หลายคนชี้ว่า ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและน่ากลัว พวกเขาสามารถผ่อนคลายได้ด้วยกำลังใจจากคนในครอบครัว ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเอง โมนิก้าเล่าว่า เพื่อนของเธอนำอาหารมาให้เธอกับสามี เมื่อครั้งที่พวกเขาป่วย และเธอก็ซาบซึ้งกับกำลังใจในครั้งนี้มาก เธอยังภาคภูมิใจที่เพื่อนร่วมงานของเธอร่วมมือกันต่อสู้กับเชื้อไวรัสอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook