สาธารณสุขแจง โยกงบบัตรทอง 2,400 ล้านไปใช้บรรจุบุคลากรใหม่กว่า 45,000 ตำแหน่ง

สาธารณสุขแจง โยกงบบัตรทอง 2,400 ล้านไปใช้บรรจุบุคลากรใหม่กว่า 45,000 ตำแหน่ง

สาธารณสุขแจง โยกงบบัตรทอง 2,400 ล้านไปใช้บรรจุบุคลากรใหม่กว่า 45,000 ตำแหน่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากกลายเป็นประเด็นให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมากว่ามีการตัดงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกว่า "งบบัตรทอง" จำนวน 2,400 ล้านบาท ซึ่งผู้คนทั้งในและนอกวงการสาธารณสุขเห็นว่าไม่ควรจะตัดงบในส่วนนี้ แต่ควรจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2563) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ดังนั้นรัฐบาลจึงได้นำงบค่าใช้จ่ายรายหัวส่วนนี้มาใช้เป็นเงินเดือนค่าตอบแทนของข้าราชการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 นั้น ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขที่ร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในครั้งนี้

นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. โดยได้จัดสรรงบกลางปี 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 1,233 ล้านบาท และรอบ 2 จำนวน 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของ สปสช. 3,260 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบกลางเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 1,551 ล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 และรัฐบาลยังได้เตรียมไว้สนับสนุนอีกกว่า 45,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ในการจัดบริการประชาชนให้กับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี เช่นปี 2561 สปสช. ได้รับการสนับสนุน 5,186 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 5,000 ล้านบาท ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีปัญหาวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ในไตรมาส 2 นี้ (มีนาคม 2563) หากงบประมาณที่ใช้ในการบริการประชาชนไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook