เดือนรอมฎอน 2020 ชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่อย่างไรในวิกฤต “COVID-19”

เดือนรอมฎอน 2563 ชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่อย่างไรในวิกฤต “COVID-19”

เดือนรอมฎอน 2563 ชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่อย่างไรในวิกฤต “COVID-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563 ถือเป็นวันแรกของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม โดยในปีที่ผ่านๆ มา กิจกรรมหลักของชาวมุสลิมในช่วงเดือนนี้ คือการถือศีลอด งดน้ำและอาหารในเวลากลางวัน และจะละศีลอด รับประทานอาหารเย็นร่วมกันในครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูง และรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อสวดมนต์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรค COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในปีนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวมุสลิมทั่วโลกไม่น้อย

สำหรับในประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรีได้แถลงผ่านสารจากนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการถือศีลอด แต่การถือศีลอดตามวิถีอิสลามจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ปฏิบัติ จึงขอให้ชาวมุสลิมที่ไม่มีอุปสรรคตามที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ได้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัด โดยมีมารยาทที่ดีงาม มีเจตนาที่บริสุทธิ์ต่ออัลลอฮ์ และแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้กับเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และผู้ที่ทุกข์ยาก ตลอดจนต้องมีความอดทนต่อความหิวและกระหาย รวมทั้งไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ใด

นอกจากนี้ สำนักจุฬาราชมนตรียังเตือนให้ชาวมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจอย่างระมัดระวัง ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 โดยการปฏิบัติศาสนกิจในบ้านของตนเอง และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกัน

“การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ เป็นสัญญาณจากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า มาเตือนสติมนุษย์ให้มีความตระหนักคิด มิให้หลงลำพองไปกับความเจริญทางวัตถุ จนลืมสัจธรรมแห่งชีวิตที่ทุกคนล้วนอยู่ใต้พระบัญชาของพระองค์ ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านได้ใช้ประโยชน์ในห้วงเวลาอันสำคัญยิ่งนี้ในการประกอบคุณงามความดี เพื่อยังความพอพระทัยต่อพระองค์ต่อไป”

เช่นเดียวกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจจากที่บ้าน ไม่มีการละศีลอดในช่วงเย็นร่วมกัน และในบางพื้นที่อาจไม่มีการประกาศรวมตัวผู้มีศรัทธา ให้มาสวดมนต์ที่มัสยิด นอกจากนี้ เชื้อไวรัสทำให้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามถูกทิ้งร้างในช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี โดย กะบะห์ แท่นบูชาปักดิ้นทองในมัสยิดอัลฮะรอม ในกรุงเมกกะ ต้องปิดรับผู้มาแสวงบุญ เช่นเดียวกับมัสยิดของศาสดามูฮัมหมัดในเมืองเมดินา และมัสยิดอัล-อักซอ ในกรุงเยรูซาเลม ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของมัสยิดเข้าสวดมนต์เท่านั้น

“นี่เป็นช่วงเวลาที่เศร้าโศกที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสลาม” ชีค โอมาร์ อัล-กิสวามี อิหม่ามและผู้อำนวยการของมัสยิดอัล-อักซอ

ส่วนที่มัสยิดจาเมีย หนึ่งในมัสยิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งในช่วงเย็นมักจะคลาคล่ำไปด้วยประชาชนที่มาสวดมนต์และถกเถียงกันในเรื่องศาสนา การเมือง และชีวิต บัดนี้กลับเงียบเหงาเป็นครั้งแรกในความทรงจำของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

“ในช่วงเดือนรอมฎอน ฉันจะละหมาด 5 เวลา ที่มัสยิดจาเมีย และจะละศีลอดที่นั่น แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย มีอันตรายรออยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้น ฉันเลยต้องอยู่แต่ในบ้านอย่างสงบ” ฟาติมา วัย 74 ปี จากเมืองศรีนาการ์ กล่าว

ส่วนอินโดนีเซียก็สั่งห้าม “มูดิค” หรือเทศกาลกลับบ้านประจำปี ที่ประชาชนหลายล้านคนจะเดินทางกลับไปหาครอบครัวในวันอีดิลฟิฏรี คือการเฉลิมฉลองการออกศีลอด

สำหรับในประเทศตุรกี หน่วยงานราชการต่างๆ ยังคงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์อย่างสมบูรณ์ โดยยืนยันว่าเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป แต่เดือนรอมฎอนกลับกลายเป็นการล็อกดาวน์ใหม่อีก 4 วัน โดยเริ่มตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี ซึ่งทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถเดินทางไปรับประทานอาหารและฉลองร่วมกัน โดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการถูกปรับหรือถูกจับกุมตัว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกรณีนี้ คือการที่ชาวมุสลิมไม่สามารถสวดมนต์หรือรับประทานอาหารร่วมกันได้ ดังนั้น สภามุสลิมในสหราชอาณาจักร จึงเชิญชวนให้ชาวมุสลิมละศีลอดผ่านโซเชียลมีเดียร่วมกัน ผ่านโปรแกรม Zoom ภายใต้โครงการ Ramadan Tent Project โดยผู้เข้าร่วมสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อพูดคุยกันได้ และมีชาวมุสลิมสมัครเข้ามาทำกิจกรรมนี้กว่า 1,400 คน เลยทีเดียว

“แค่คุณต้องกักตัว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องใช้เวลาในช่วงเดือนรอมฎอนคนเดียว” โรห์มา อาห์เม็ด โฆษกของโครงการกล่าว

อาบู อิบรอฮิม วัย 32 ปี กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่ง โดยในปี 2011 เขาปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนขณะที่มีการโจมตีทางอากาศที่เมืองเดราดูน ทางตอนใต้ของซีเรีย ส่วนในปีต่อมา เขาใช้เวลาในวันแรกของเดือนรอมฎอนในการวิ่งหนีกองทัพซีเรียเข้าไปในจอร์แดน

“หลายคนสงสัยว่าเราจะผ่านเดือนรอมฎอนนี้ไปได้อย่างไร เมื่อเราไม่ได้พบปะกัน และการเจอหน้ากันเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ เราเคยวางอาหารบนโต๊ะและฟังเสียงระเบิด เราเคยกลัวแทบตายว่าครอบครัวของเราจะเป็นอันตราย ดังนั้น ผมไม่ได้กังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ผมอยู่ในบ้าน ครอบครัวผมปลอดภัย เรามีไฟฟ้าใช้ มีโทรศัพท์ มีอาหาร” อิบรอฮิมกล่าว

ด้านฟาเอ็ก ทียาบัต อิหม่ามแห่งมัสยิดบับ อัล-รายาน ในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน กล่าวว่า คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประเพณีในช่วงเดือนรอมฎอนขณะที่เกิดโรคระบาด ทำให้เหล่าผู้มีศรัทธาต้องดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่ไม่คุ้นเคย

“หะดีษบุคอรี 3473 กล่าวว่า ‘เมื่อพวกท่านได้ยินเกี่ยวกับโรคระบาดในเมืองใด จงอย่าเข้าไปที่นั่น’” ทียาบัตกล่าว และสรุปว่า ไม่ควรไปมัสยิด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม ผู้นำในศาสนาอิสลามบางคนกลับมีความเห็นแตกต่างจากทียาบัต ชาวมุสลิมหลายร้อยคนในเมืองเฮรัต ประเทศอัฟกานิสถานยังคงเดินทางไปสวดมนต์ในมัสยิดอย่างต่อเนื่อง โดยมูจิบ เราะห์มาน อันซารี นักเทศน์ผู้ยึดมั่นในหลักการกล่าวกับสาวกของเขาว่า การเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา เป็นการเสียสละความสุขเพื่อศาสนาอย่างหนึ่ง

ส่วนในประเทศปากีสถาน รัฐบาลได้มีนโยบายที่ประนีประนอมกับฝ่ายศาสนา โดยยกเลิกมาตรการห้ามการสวดมนต์เป็นหมู่คณะในช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการปูพรม เด็กและผู้สูงอายุต้องอยู่ห่างๆ และผู้ที่เข้าร่วมการสวดภาวนาจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และนั่งห่างกัน 6 ฟุต

โมลวี ไฮเดอร์ ซามาน ผู้นำสวดมนต์จากกรุงอิสลามาบัด กล่าวว่า ไวรัสโคโรนา “ไม่ใช่ประเด็น” และยืนยันว่าการสวดมนต์ร่วมกันในช่วงเดือนรอมฎอนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

“ประชาชนไม่ได้กลัวที่จะออกมาสวดมนต์กัน เราใช้แนวทางรักษาระยะห่างทางสังคมในมัสยิด และผมไม่คิดว่าเราจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากมัสยิด ซึ่งเป็นบ้านของพระเจ้า”

ในจอร์แดน ทียาบัตแนะนำให้ชาวมุสลิมมองสถานการณ์นี้ในแง่ดี ซึ่งในปีที่ผ่านมา เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมจะจัดละศีลอดและจับจ่ายใช้สอยกันอย่างฟุ่มเฟือย แต่ในปีนี้ เดือนรอมฎอนทำให้หลายคนหันมาระลึกถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของการละศีลอด ทั้งความสมถะ และการช่วยเหลือญาติพี่น้อง รวมถึงผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook