งานวิจัยเผยคนไทย 28 รายฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 หลังเจอกระทบจากมาตรการปิดเมือง
วันนี้ (24 เม.ย.) คณะนักวิจัย 7 คน ซึ่งประกอบด้วย
1. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ
6. ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
7. ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ จากโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการอย่างเข้มงวดในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส เช่น มาตรการปิดพื้นที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ตลอดจนการห้ามนั่งกินอาหารในร้าน มาตรการงดขายเหล้า มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมไปถึงการประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 22:00 น. – 04:00 น.
ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพึงพอใจ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดน้อยลง แต่ในแสงสว่างของภาวะวิกฤตโควิด-19 ก็ยังมีด้านมืดที่ไม่มีใครอยากพูดถึง นั่นคือ จำนวนข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้
โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง เก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของประชาชนที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 21 เม.ย. 2563 เพื่อแสดงให้เห็นผลกระทบของมาตรการที่มุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่กลับละเลยมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ระหว่างวันที่ 1 – 21 เม.ย. 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 28 ราย โดยหลายกรณีมีสาเหตุจากความล่าช้าของโครงการเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งในรายงานชี้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีจำนวนเท่ากับผู้ที่ฆ่าตัวตายจากผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ
ในจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด 38 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 27 ราย และเพศหญิง 11 ราย โดยมีอาชีพเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ (พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, พนักงานเสิร์ฟ เป็นต้น) จำนวน 35 ราย และเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจรายย่อยอีก 3 ราย
จากข้อมูลข้างต้นแสดงว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของภาครัฐ คือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมืองที่ต้องตกงาน แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและเป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อเผชิญปัญหาตกงาน จึงสร้างแรงกดดันให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างมหาศาล
ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัยจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล นั่นคือ รัฐบาลต้องตระหนักถึงการฆ่าตัวตายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการในการควบคุมโรคของภาครัฐให้มากกว่านี้ โดยอาจจัดเตรียมสายด่วนที่ให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนสามารถแจ้งปัญหาและมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการมอบเงินเยียวยาให้ครอบคลุมและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ โดยอยู่บนฐานของการ “ช่วยเหลือถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน” มาตรการเยียวยาต้องมีความฉับไวและชัดเจนมากกว่านี้ และรัฐบาลต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ รัฐบาลต้อง “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” ในพื้นที่ความเสี่ยงน้อย เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัว และสุดท้าย รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายหรือมาตรการที่สร้างความลำบากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น เช่น มาตรการแจกจ่ายอาหาร การใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
คณะวิจัยได้ทิ้งท้ายในรายงานว่า การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่รัฐบาลสามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพ การมุ่งเน้นมาตรการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่ถ้าคนไทยต้องจบชีวิตเพราะพิษเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่อาจนับว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง