WFP เตือน “ไวรัสโคโรนา” อาจก่อให้เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่

WFP เตือน “ไวรัสโคโรนา” อาจก่อให้เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่

WFP เตือน “ไวรัสโคโรนา” อาจก่อให้เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในรายงานประจำปีของ World Food Programme (WFP) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประมาณการว่า ผู้คนราว 135 ล้านคน จะต้องเผชิญกับความอดอยากหิวโหยในระดับ “วิกฤต” ซึ่งเดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของ WFP ได้กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า สถานการณ์วิกฤตครั้งใหญ่ เช่นที่เกิดขึ้นในเยเมนและซีเรีย ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเรียกได้ว่า “โลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติอย่างเต็มรูปแบบ”

และในสถานการณ์การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา บีสลีย์ได้เตือนว่า โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะอดอยากในระดับรุนแรงภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลก 130 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะอดอยาก และจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ในบทนำของรายงานประจำปีเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารของโลก (Global Report on Food Crises) ฉบับที่ 4 ว่าด้วยเรื่องโรค COVID-19 มีการเตือนว่า โรคระบาดใหญ่อาจทำลายวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในบริบทที่มีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระดับโลกก็อาจจะส่งผลร้ายแรงต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร

WFP กล่าวว่า 55 ประเทศ ที่ถูกระบุในรายงานก่อนที่จะมีการระบาดของเชื้อไวรัส เป็นประเทศกลุ่มที่เปราะบางที่สุดต่อการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจจะต้องเผชิญกับการแลกเปลี่ยนอันน่าเจ็บปวดระหว่างการรักษาชีวิตและความเป็นอยู่ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการเลือกระหว่างเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา เรื่องจะเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร

นอกจากนี้ WFP ยังเตือนด้วยว่า โรคระบาดใหญ่นี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าอาหาร และพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวหรือเงินที่ถูกส่งมาจากสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ

มาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งและแปรรูปอาหาร ซึ่งจะนำไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่ลดลง รวมทั้งยอดขายและจำนวนสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่วางตลาดซึ่งลดจำนวนลงอย่างน่ากลัว

ขณะเดียวกัน ภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ก็ส่งผลให้กำลังซื้อของคนบางกลุ่มลดลง ทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงลดลงตามไปด้วย รวมทั้งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายเชิงป้องกัน ค่าเงินที่ลดต่ำลง และการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร

ยิ่งกว่านั้น เชื้อไวรัสยังก่อให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่กัดกร่อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนและแพร่กระจายความกลัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างผู้ลี้ภัยและชุมชนเจ้าของพื้นที่ หรือกระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

บีสลีย์ ที่เพิ่งหายป่วยจากโรค COVID-19 กล่าวว่า การวิเคราะห์ของ WFP แสดงให้เห็นว่า จะมีผู้คน 300,000 คน อาจจะเสียชีวิตจากภาวะอดอยากทุกวัน ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมภาวะอดอยากที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด

“กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจจะมีประเทศที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากราว 36 ประเทศ และ 10 ประเทศจากจำนวนนี้มีประชากรที่ประสบกับภาวะอดอยากอยู่แล้ว” บีสลีย์กล่าว โดย 10 ประเทศที่ประสบกับวิกฤตด้านอาหารอย่างร้ายแรง ได้แก่ เยเมน คองโก อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา เอธิโอเปีย เซาธ์ซูดาน ซีเรีย ซูดาน ไนจีเรีย และเฮติ

ดังนั้น รายงานจึงมีข้อเสนอให้มี “มาตรการโดยรวมที่รวดเร็ว” เพื่อป้องกัน “การระบาดใหญ่ของความอดอยาก” ได้แก่ การขยายระบบเฝ้าระวัง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ เกี่ยวกับผลกระทบของการระบาด ที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ การเข้าถึงบริการต่างๆ ตลาด และห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ในการใช้ข้อมูลเพื่อระบุประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด หน่วยงานควรสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเสบียงอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่มีไว้สำหรับกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุด รวมทั้งยังกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ขยายการสนับสนุนตลาดอาหารในท้องถิ่น และห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค เพื่อยับยั้งการล่มสลาย และสนับสนุนระเบียงการค้าให้เปิดอยู่เสมอ

บีสลีย์กล่าวว่า ขณะนี้เราไม่มีเวลา ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาอย่างรอบคอบและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ประชากรโลกต้องเผชิญกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่เดือนนี้

“ผมเชื่อว่าด้วยความเชี่ยวชาญและความร่วมมือของเรา เราสามารถสร้างทีมและโครงการที่จำเป็น เพื่อยับยั้งไม่ให้การระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 กลายเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมและวิกฤตด้านอาหาร”

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook