ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ภาวะเหนื่อยล้าจากการกักตัว” อาจเกิดขึ้นหลังต่อเวลาล็อกดาวน์ทั่วโลก
ขณะที่ในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์ และให้ประชาชนอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “ภาวะเหนื่อยล้าจากการกักตัว” โดยสังเกตได้จากการที่ประชาชนออกจากบ้านมากขึ้นก่อนกำหนด แม้ว่าการกักตัวอยู่ที่บ้านจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการระบาด
หลี่ จาง หัวหน้านักวิจัยและผู้อำนวยการสถาบันการคมนาคมขนส่งแมรีแลนด์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ดูเหมือนว่าประชาชนจะเริ่มเหนื่อยล้ากับมาตรการกักตัวดังกล่าว และออกมานอกบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและเพื่อนร่วมงานมองว่าไม่ควรจะเกิดขึ้น
จางคาดการณ์ว่า จำนวนของประชาชนที่อยู่ในบ้านจะลดลง เนื่องจากบางรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ให้ภาคธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ รวมทั้งเปิดชายหาดและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนระบุว่า ข้อมูลที่แสดงว่าประชาชนเริ่มให้ความร่วมมือน้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เนื่องจากนี่เป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ของสหรัฐฯ และรัฐไม่รู้เลยว่าประชาชนจะอดทนต่อความเหนื่อยล้าจากการกักตัวได้ถึงเมื่อไร
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญต่างก็ไม่แปลกใจที่เกิดกรณีนี้ขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มมีท่าทีที่ท้าทายมาตรการของรัฐตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เช่น การประท้วงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ จนทำให้ทำเนียบขาวต้องออกแนวทางการเปิดระบบเศรษฐกิจ และรัฐต่างๆ เช่น เท็กซัส มินเนโซตา และเวอร์มอนต์ ต่างก็กำหนดวันที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว
เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของประชาชนบางกลุ่มไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างน้อย 1 ไมล์ต่อวัน นั่นหมายความว่า ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้านตามมาตรการล็อกดาวน์ โดยจำนวนโดยเฉลี่ยของประชาชนที่มีการเคลื่อนที่นั้นลดลงจาก 33% เหลือ 31% เมื่อเทียบกับวันศุกร์ก่อนหน้านั้น แต่หลังจากนั้นราว 6 สัปดาห์ที่มีการใช้มาตรการดังกล่าว ตัวเลขเปอร์เซ็นต์กลับหยุดนิ่งหรือเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขโดยเฉลี่ยของการเดินทางส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ต่อคน คิดเป็น 4% ขณะเดียวกัน การเดินทางระหว่างเมืองและระหว่างรัฐก็เพิ่มขึ้นด้วย
ดร.วิลเบอร์ เฉิน รองศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ และหนึ่งในสมาชิกของทีมเฉพาะกิจสู้ภัย COVID-19 ของแมรีแลนด์ ระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่เราจะรู้ว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือจุดเริ่มต้นของแนวโน้ม โดยเขาและทีมงานจะจับตาดูข้อมูลนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยก็ยังไม่ทราบว่าการออกจากบ้านที่มากขึ้นจะส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น หรือมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่
“หากประชาชนออกจากบ้าน ก็เป็นไปได้ที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเมื่อใดที่มีการระบาด เราก็จะมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น” เฉินกล่าว
ด้านจอร์จ รุทเธอร์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เขารู้สึกกังวลเมื่อทราบว่าประชาชนออกจากบ้านกันมากขึ้น ในขณะที่อัตราการติดเชื้อในประเทศยังสูงอยู่ เพราะฉะนั้น การผ่อนคลายมาตรการจะต้องทำอย่างระมัดระวัง
“การปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองเพราะพวกเขาเบื่อ ไม่ใช่วิธีการที่ดี นี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกมาตรการ” รุทเธอร์ฟอร์ดกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญมีทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุที่วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันล่าสุดที่มีข้อมูล กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยอธิบายว่า ชาวอเมริกันที่อยู่ที่บ้านจะแตะจุดเปลี่ยนทางจิตใจในสัปดาห์ที่ 5 ซึ่งในทางเทคนิคคือเข้าสู่เดือนที่ 2 และไม่รู้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร แม้ว่าจะมีการใช้วีดิโอคอลในการติดต่อพูดคุยกันอย่างแพร่หลาย แต่ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ปลอดโปร่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิยังทำให้ผู้คนอยากออกมานอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น และมาตรการอยู่ที่บ้านก็ดูจะไร้ผล เมื่อมีการประท้วงที่ได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้มาตรการนี้อยู่
ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การที่ผู้ว่าการรัฐประกาศกำหนดการเปิดระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง อาจจะทำให้ ประชาชนเข้าใจผิดว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว
สถานการณ์ที่พลิกกลับครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อนักวิจัยจากแมรีแลนด์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของสมาร์ทโฟนผ่านข้อมูลที่ตั้งในแอปพลิเคชัน โดยจางระบุว่า นักวิจัยได้แชร์ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐและนักระบาดวิทยาที่สังเกตรูปแบบการระบาดของโรค COVID-19
ตัวเลขของ “ดัชนีการรักษาระยะห่างทางสังคม” ที่ลดลงทั่วประเทศ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน หรือ 1 วันก่อนที่จะมีการประท้วงเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในมิชิแกน
จางกล่าวว่า ดัชนีการรักษาระยะห่างทางสังคมสะท้อนให้เห็นจำนวนของผู้คนที่อยู่ในบ้าน ความถี่ในการเดินทางและระยะทางของการเดินทางโดยเครื่องบิน รถยนต์ การต่อเครื่องบิน จักรยาน และการเดิน ส่วนผู้ที่ออกมาปั่นจักรยานหรือพาสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเล่น ถือว่าเป็นการอยู่ที่บ้าน
ซูซาน แฮสซิก รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยทูเลน กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวน่าสนใจ เนื่องจากสหรัฐฯ มีประสบการณ์อันจำกัดในการขอร้องให้ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งโดยทั่วไป การกักตัวอยู่ที่บ้านจะทำในวงแคบ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นสามารถเดินทางไปตรวจหรือเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยได้ทุกวัน รวมทั้งกำหนดให้ผู้ป่วยแยกตัว โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาอย่างมากที่สุดเพียง 14 – 21 วันเท่านั้น และระยะเวลาประมาณนี้จะลดแนวโน้มของภาวะเหนื่อยล้าจากการกักตัวได้
แม้คำสั่งให้อยู่บ้านในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจะเป็นเพียงการกักตัวมากกว่ากฎข้อห้าม แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก็มองว่า การสั่งให้คนกักตัวอยู่ในบ้านจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมาตรการดังกล่าวสามารถลดอัตราการติดเชื้อได้มากเท่าไร คนก็จะยิ่งเข้าใจผิดว่ามาตรการนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป
ยิ่งกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวว่า รัฐบาลที่ต้องการห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ประชาชนต้องออกจากบ้าน และตอบสนองต่อท่าทีของประชาชนกลุ่มนี้ โดยการเปิดสวนสาธารณะ หรือปิดถนนบางส่วนเพื่อให้คนออกมาเดินนอกบ้านในระยะที่ปลอดภัย รวมทั้งให้ประชาชนบางกลุ่มที่ตกงาน สามารถหันมาขับรถรับส่งหรือขนส่งสินค้าได้ ก็จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนในด้านการเงินเช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกตัดขาดจากสังคม ข้อความแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจจากรัฐบาลก็ช่วยได้เช่นกัน