8 วิธีอันตรายรับมือ “โควิด-19” ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนแล้วว่าไม่ได้ผล

8 วิธีอันตรายรับมือ “โควิด-19” ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนแล้วว่าไม่ได้ผล

8 วิธีอันตรายรับมือ “โควิด-19” ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนแล้วว่าไม่ได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อโรโคนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) โดยแนะนำให้มีการศึกษาวิจัยวิธีการรักษาเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการฉีดรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต หรือฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าร่างกาย เนื่องจากสรรพคุณที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 1 นาที คำพูดดังกล่าวของทรัมป์ได้สร้างความตกใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ต่างออกมาตอบโต้แนวคิดดังกล่าว รวมทั้งกล่าวเตือนไม่ให้ประชาชนทำตาม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยต่างทำงานหนักเพื่อค้นหาวิธีการรักษาโรคโควิด-19 บนโลกอินเทอร์เน็ตก็มีการเผยแพร่วิธีการรักษาโรคระบาดที่เต็มไปด้วยความสุดโต่ง ทว่ากลับไม่มีรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรอง รวมทั้งมีความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิต และนี่คือ 8 ความเชื่อและการรักษาแบบสุดโต่งบนโลกออนไลน์ ที่เราขอแนะนำเลยว่า ห้ามลอกเลียนแบบ!

ดื่มน้ำยาฟอกขาวสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

หนึ่งในความเชื่อเรื่องการรักษาโรคโควิด-19 ที่แพร่หลายบนอินเทอร์เน็ตคือ “การดื่มน้ำยาฟอกขาวสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้” โดยหลายคนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสามารถนำมาใช้ในการกำจัดเชื้อไวรัสได้ และเมื่อดื่มเข้าไป เชื้อไวรัสในร่างกายก็จะถูกทำลาย แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนว่า แม้น้ำยาฟอกขาวจะมีความสามารถในการกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิววัตถุ แต่มันส่งผลเสียและทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ และอาจทำให้เสียชีวิต ขณะที่สำนักข่าวในประเทศอิหร่านได้รายงานว่ามีชาวอิหร่านถึง 27 รายเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์อุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตเจลล้างมือ เพราะเชื่อว่าสามารถทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายได้

เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่าการใช้แอลกอฮอล์หรือคลอรีนราดตัวสามารถจำกัดเชื้อไวรัสได้ แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า วิธีการดังกล่าวไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่สารที่ราดตัวอาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตาและปาก ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความอ่อนไหว

ดื่มปัสสาวะ ต้านไวรัสโควิด-19

การดื่มปัสสาวะรักษาโรค” กลายเป็นวิธีการยอดนิยมบนโลกออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าสามารถรักษาโรคได้มากมาย รวมถึงโรคโควิด-19 ด้วย ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอคลิปวิดีโอของชายคนหนึ่งที่แต่งกายคล้ายพระภิกษุโชว์ ดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองจนหมด พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนดื่มปัสสาวะของตัวเองเพื่อป้องกันโรค แต่แพทย์ได้ออกมายืนยันว่าปัสสาวะของคนเป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมา ซึ่งเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค

ขณะที่กลุ่มชาวฮินดู ในประเทศอินเดีย ก็ได้จัดงานเลี้ยงเพื่อดื่มปัสสาวะวัว เพราะพวกเขาเชื่อว่า การดื่มปัสสาวะของวัวจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากวัวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และปัสสาวะของวัวก็สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้

วางหัวหอมรอบบ้าน จัดการโควิด-19

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีหลายคนเชื่อว่า การวางหัวหอมเอาไว้ในทุกห้องของบ้านจะช่วยดูดซับเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ รวมทั้งช่วยกำจัดโรคต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางหัวหอมรอบบ้านแบบนี้จะทำให้บ้านมีแต่กลิ่นหัวหอม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าการวางหัวหอมไว้ในบ้านสามารถป้องกันโรคได้ แต่ผู้คนต่างก็แชร์รูปภาพและวิดีโอการวางหัวหอมไว้รอบบ้านเพื่อขจัดโรคโควิด-19 บนโลกออนไลน์อย่างมากมาย

สิ่งของและจดหมายที่ส่งมาจากประเทศจีนมีไวรัส

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ลบล้างความเชื่อที่ว่า สิ่งของและจดหมายที่ส่งมาจากประเทศจีนอาจมีเชื้อไวรัสติดมาด้วย พร้อมยืนยันว่าแผ่นกันกระแทกที่ส่งมาจากประเทศจีนก็ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อบีบแผ่นกันกระแทกที่มีอากาศอยู่ด้านใน โดยการศึกษาชี้ว่า มีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ ที่เชื้อไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของหรืออยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานเท่ากับระยะเวลาที่สิ่งของหรือจดหมายถูกจัดส่งจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสน้อยมากที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากจดหมายที่ได้รับ Darshan Shah ผู้อำนวยการสถาบัน Next Health กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการขนส่งและอุณหภูมิจะทำลายเชื้อไวรัสก่อนที่จะมาถึงมือของคุณ” และมีความเป็นไปได้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส อาจจะมาจากพนักงานส่งของมากกว่า

โคเคนทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

ความเชื่อดังกล่าวเริ่มจากในโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กต่างโพสต์รูปจากข่าวโทรทัศน์ที่กล่าวว่า “โคเคนสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19” พร้อมรูปถุงที่บรรจุผงสีขาวบนฝ่ามือ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็ออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว โดยชี้ว่า ยังไม่มีรายงานใดที่พิสูจน์ว่าโคเคนสามารถทำลายเชื้อไวรัสโคโรนาได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสยังออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีใจความว่า “โคเคนไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่มันเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน”

“ช่วยตัวเอง” ช่วยป้องกันโรคโควิด-19

มีข่าวลือบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับ “การช่วยตัวเอง” สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ รองศาสตรจารย์ Gail Saltz แห่งวิทยาลัยทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ชี้ว่า “มีงานศึกษาวิจัยขนาดเล็กเพียงเล็กน้อยที่แนะนำว่าสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดขึ้นได้จากการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ” และยังไม่มีการศึกษาที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าการช่วยตัวเองจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ

กินแมวดำช่วยรักษาโรคโควิด-19

แมวดำถูกฆ่ากินหลังจากมีข่าวลือที่ว่า การกินแมวดำสามารถรักษาโรคไวรัสโวรัส-19 ได้ โดยมูลนิธิ No To Dog Meat ชี้ว่า แมวจะถูกนำมาต้ม ลอกหนัง จากนั้นจะทำเป็นซุปให้ง่ายต่อการกิน อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมอแล็บแพนด้า” ก็ได้ออกมาโพสต์เตือนว่าการกินแมวดำ ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ท่านอื่น ๆ ชี้ว่า นอกจากการกินแมวดำจะไม่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งแมวก็มีโอกาสที่จะมีเชื้อดังกล่าวในร่างกายเช่นกัน

ความร้อนฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

แม้ความร้อนจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้จริง แต่สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดก็คือ ความร้อนที่ว่าไม่ใช่ความร้อนของอากาศในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่เป็นความร้อนในระดับที่สูงมาก ๆ ซึ่งโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ใช้ความร้อนหลายร้อยองศาเพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ และทำลายเชื้อไวรัสต่าง ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การอาบน้ำร้อน ดื่มชาร้อน ใช้ไดร์เป่าผมเป้าหน้า หรือออกไปตากแดด ไม่สามารถช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือรายงานการวิจัยรองรับ ซึ่งหมายความว่า วิธีการเหล่านี้อาจใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของผู้ที่ทำตาม โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทุกคนต่างหวาดกลัวและกังวล แต่สิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ คือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ การรักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook