“หน้ากากอนามัย” ภัยร้ายต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงโควิด-19

“หน้ากากอนามัย” ภัยร้ายต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงโควิด-19

“หน้ากากอนามัย” ภัยร้ายต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แนวทางการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งได้แก่การสวมหน้ากากอนามัยและถึงมือยาง เมื่อต้องการออกจากบ้านและหยิบจับสิ่งของ ส่งผลให้ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยและถุงมือยางเพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายเรื่องปัญหาขยะพลาสติกให้กับสิ่งแวดล้อมบนโลก โดยล่าสุดโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพถุงมือยางและหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งอยู่ข้างถนนทั่วโลก และผู้มีหน้าที่จัดการกับขยะเหล่านี้ ทั้งคนเก็บขยะและพนักงานทำความสะอาด ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค โดยแลกกับค่าแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้  หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รวมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ยังอาจจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ เมื่อขยะพลาสติกไหลลงสู่แม่น้ำ มันจะแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า “ไมโครพลาสติก” ซึงยากที่จะกำจัดออกไปได้

องค์กร Ocean Conservancy ค้นพบว่า ปลาหลายสายพันธุ์กินเศษพลาสติกเป็นอาหาร โดยสัตว์มากกว่า 600 สายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เพราะปัญหามลพิษและขยะ ขณะเดียวกัน สุขภาพของมนุษย์ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากคนหลายพันล้านคนทั่วโลกกินอาหารทะเล และสัตว์ทะเลเหล่านั้นก็กินพลาสติกเป็นอาหาร

ในทุก ๆ ปี ขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันจะถูกทิ้งลงในมหาสมุทร กลายเป็นขยะทะเลมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สีสันที่สดใสของขยะพลาสติก เช่น ถุงมือยางสีฟ้า ทำให้สัตว์คิดว่ามันคืออาหาร โดยปีที่แล้ว วาฬหัวทุยเกยตื้นมาตายที่สก็อตแลนด์ และมีการตรวจพบขยะพลาสติกมากกว่า 100 กิโลกรัมในท้องของมัน ซึ่งมีทั้ง เชือก ถุงมือพลาสติก  ถุงพลาสติก และแก้วพลาสติก

สัญญาณเตือนเรื่องหน้ากากอนามัยและถุงมือยางเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อกลุ่ม OceansAsia โพสต์ภาพถ่ายหน้ากากอนามัยจำนวนหนึ่งบนชายหาดของฮ่องกง ระหว่างการทำวิจัยเรื่องขยะและไมโคร พลาสติกในทะเล หน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายเป็นอีกปัญหาขยะที่เพิ่มเข้ามาของฮ่องกง ซึ่งขยะเหล่านี้ไหลมาจากประเทศจีนและพื้นที่อื่น

“ผู้คนคิดว่าพวกเขากำลังป้องกันตัวเอง แต่มันไม่ใช่แค่การป้องกันตัวเอง เราต้องป้องกันทุกคน โดยการทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างเหมาะสม” Tracey Read ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Plastic Free Seas ในฮ่องกง กล่าว

ในสหรัฐอเมริกา ก็มีความกังวลเรื่องขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน Maria Algarra เริ่มแคมเปญที่ชื่อว่า #TheGloveChallenge โดยขอให้ทุกคนถ่ายรูปถุงมือยางจากที่ต่าง ๆ มาเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญญาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เธอไม่แนะนำให้ผู้คนลงมือเก็บขยะเหล่านั้นเอง เว้นแต่พวกเขาจะรู้สึกว่าปลอดภัยพอที่จะเก็บ หรือมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง

Algerra ชี้ว่า นับตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เธอเห็นถุงมือยางลอยอยู่ในทะเล ถูกทิ้งอยู่ในลานจอดรถ และตามข้างถนน ในส่วนของแคมเปญที่เธอสร้างขึ้น เธอได้รับรูปถ่ายมากกว่า 1,200 รูป จากทั้งในสหรัฐฯเอง และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนี และนิวซีแลนด์ โดยเธอมองว่า ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยและถุงมือยางนี้จะกลายเป็นปัญหาขยะบนดินและขยะในทะเล ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดความเสี่ยงกับสัตว์ป่า แต่ยังเสี่ยงที่คนอื่น ๆ จะติดโรค ดังนั้นการจัดทำแคมเปญดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับคนในสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook