"นพ.ทวี" พอใจยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย แต่มั่นใจไม่มีวันเป็นศูนย์

"นพ.ทวี" พอใจยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย แต่มั่นใจไม่มีวันเป็นศูนย์

"นพ.ทวี" พอใจยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย แต่มั่นใจไม่มีวันเป็นศูนย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการโหนกระแสวันที่ 28 เม.ย. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 กรณีการคลายล็อกดาวน์ ที่ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน โดยสัมภาษณ์ "รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์" ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ "ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดพอใจหรือยัง?

นพ. ทวี : "พอใจครับ 3 เดือนที่ผ่านมาเห็นลูกคลื่นอยู่ในขาลงแล้ว ลงไปเยอะพอสมควร แต่คงไม่คาดหวังให้เป็นศูนย์นะครับต้องบอกก่อน คงไม่มีทาง จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2009 หรือซาร์ส จะเห็นว่ามันเป็นลูกคลื่นมาเรื่อยๆ ลูกคลื่นจะเล็กลงถ้าเราทำงานดี ถ้าทำงานไม่ดี การ์ดตกเมื่อไหร่ ลูกคลื่นจะใหญ่ขึ้น ซึ่งเราไม่อยากเจอ ถึงแม้ตอนนี้ไปถึงจุดนึงก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่าระดับนี้ต้องคิดถึงปากท้อง หลายคนมีปัญหาเรื่องทำมาหากิน จำเป็นต้องคลาย แต่การคลายแล้วต้องมั่นใจว่ามันต้องเป็นตัวเลขแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าแบบนี้การแพทย์เรารับมือได้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีทรัพยากรจำกัด คนมีทรัพยากรเยอะๆ ยังแย่เลย เรามีจำกัด ก็อยากได้ตัวเลขแบบนี้ไปเรื่อยๆ"

วันนี้ประกาศ 7 รายถือว่าตัวเลขน้อยมั้ย?

นพ. ทวี : "น้อย"

ถ้าเทียบกับคนเป็นไข้หวัดธรรมดา?

นพ.ทวี : "มีการศึกษามานานแล้ว ไข้หวัดแต่ละวัน ประเทศไทยเป็นวันละ 2 แสนคน ไข้หวัดมีหลายสิบตัว ไข้หวัดใหญ่มันเป็นเพียงตัวหนึ่ง ตัวสองเท่านั้นเอง ไข้หวัดคนไทยเป็นวันละประมาณ 2 แสน"

ถ้าเทียบโควิด วันนี้ 7 รายถือว่าน้อย แต่มีโอกาสปะทุได้?

นพ. ทวี : "แน่นอน เพราะเป็นเชื้อใหม่ เมื่อคนเราไม่เคยรับเชื้อมาก่อน ก็อาจรับเชื้อและเกิดอาการขึ้น"

ตัวเลขนี้ถึงเวลาคลายล็อกทั้งหมดเลยก็ยังไม่ได้?

นพ.ทวี : "ถ้าคลายล็อกทั้งหมดมันจะกลับไปที่เดิมเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่าให้ที่ลงทุนลงแรงไปมหาศาลสูญเปล่าแต่จะไม่คลายเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็แย่แล้ว มีความจำเป็นต้องคลาย แต่ต้องคลายแบบมีเงื่อนไข กล่าวเงื่อนไขสั้นๆ คือบางพื้นที่ บางกิจการ"

เช่นล่าสุดมีการประเมิน เขาแบ่งเป็น 4 กลุ่มความเสี่ยง กลุ่มแรกให้เปิดคือต้นพ.ค. พวกสถานประกอบการขนาดเล็กอยู่ในที่โล่งแจ้ง หาบเร่ แผงลอย ร้านขายหนังสือ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ถือว่าโอเคมั้ย?

นพ.ทวี : "6-7 อันนี้ เป็นอันที่ไม่ค่อยได้สัมผัสตัว อาจยืนใกล้แต่เราก็ต้องป้องกัน ใส่แมสก์ มีการล้างมือ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสตัว อย่างนวด หรือตัดผม เสริมสวย อันนี้เป็นการสัมผัสตัวและใกล้ชิดด้วย ฉะนั้นอันนี้สามารถเปิดได้ก่อน"

ผศ. วันวิชิต มองยังไง?

ผศ. วันวิชิต : "เหมาะสม สมควรแก่เหตุ ที่จะคลี่คลายความรู้สึก เพราะคนที่ได้รับผลกระทบที่สุดใน 4-5 สัปดาห์ในภาวะล็อกดาวน์ คือคนมีรายได้หาเช้ากินค่ำ มีรายได้เดือนชนเดือน กลุ่มนี้เปิดตัวในพื้นที่ข่าวมาตลอด 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเขาประสบความลำบากมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเหมาะสมแก่เหตุ เป็นการระบายความกดดันต่างๆ ด้วย ที่สำคัญรัฐบาลก็รู้สึกปลดแอกความรู้สึกต่างๆ เพราะแรงกดดันเยอะ  หากควบคุมเข้มงวดต่อไป ข่าวคนสิ้นเนื้อประดาตัว ติดหนี้ คิดสั้นฆ่าตัวตาย ดูตัวเลขจริงๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายเกินกึ่งนึงของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด อันนี้น่ากลัว

ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ในภาวะจิตวิทยาทางสังคมจะตื่นตูมและตื่นตัว ว่าจะหาทางป้องกันยังไง เพราะสังคมพยายามเยียวยามาตรฐานศีลธรรมแบบไทยๆ เมื่อมีประเด็นดราม่าน่าสงสารก็ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งคือจุดแข็งของบ้านเรา บริจาคมากน้อยก็ว่ากันไป แต่เพียงแต่อันนี้ทำให้ย้อนกลับไปเป็นบูมเมอแรงตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าทำไมสังคมต้องให้คนเยียวยากันเอง ทำไมรัฐบาลไม่เยียวยาให้เร่งด่วน เร่งรัด ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่"

กลุ่มที่สอง ตลาดนัด ตลาดสด ฟู้ดเซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้า ร้านทำผม คลินิก สระว่ายน้ำ เป็นกลุ่มที่สองต้องรอประเมิน?

นพ.ทวี : "จะเห็นว่าในกลุ่มที่สองมีความใกล้ชิดด้วยลักษณะของอาชีพ ฉะนั้นต้องมีความมั่นใจพอสมควรและสามารถควบคุมได้ อย่างที่เรียนให้ทราบ เราลงทุนลงแรงมาเยอะมากในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่อยากให้สูญเปล่า สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดความมั่นใจมากๆ เช่นมีระบบในการเฝ้าระวังอะไรต่างๆ ที่ดี"

ตลาดสด ตลาดนัดทุกวันนี้เขาก็เปิดอยู่?

นพ.ทวี : "เปิดอยู่ครับ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ยังไปซื้อของที่ตลาดสด แต่เขาตรวจไข้ก่อนเข้าตลาด ส่วนเว้นระยะห่าง พอมีตรงโน้นตรงนี้กั้น เลยทำให้คนเข้าไปในตลาดน้อยลง ผมก็ถามแม่ค้า แม่ค้าก็บอกว่าตลาดก็ขายของได้ค่อนข้างน้อย เลยทำให้คนเว้นระยะห่างมากขึ้นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว"

ฟู้ดเซ็นเตอร์ การที่เราไปซื้ออาหารแล้วนั่งทานในร้านอาหารหรือเปล่า?

นพ.ทวี : "ใช่ครับ"

เป็นกลุ่มเสี่ยง?

นพ.ทวี : "มีการใกล้ชิด มีการซื้ออาหารแล้วมานั่งทานด้วยกัน ยกตัวอย่างถ้าเป็นร้านอาหารโอเพ่นแอร์ เปิดโล่งอยู่ใต้ต้นไม้ พวกนี้ก็เปิดไปเถอะ เพราะความเสี่ยงต่ำมาก แต่ถ้าเป็นร้านอาหารที่มีแอร์ต้องคำนึงให้เยอะๆ ตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณา ส่วนร้านอาหารที่ขายสุรา มีดนตรี ไม่ต้องพูดถึง"

อาจารย์มองยังไง?

ผศ. วันวิชิต : "ผมมองว่าเราต้องใคร่ครวญให้หนัก กรณีร้านอาหารในห้องแอร์ปรับอากาศ อย่าลืมว่าสังคมไทยหรือการพาครอบครัว ลูกเล็กเด็กแดง เราจะนั่งแบบโซเชียลดีสแทนซิ่งไม่ได้นะครับ เด็กยังเล็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ปกครองใกล้ชิด มันทำไม่ได้ในหลักการโซเชียลดีสแทนซิ่ง หรือแม้กระทั่งในห้างสรรพสินค้าผมเขาไปลองเสื้อผ้า ผมสัมผัสแต่ไม่ซื้อจะมีการเอาไปทำความสะอาดแบบเร่งด่วนหรือไม่ ต้องมีมาตรการรองรับสร้างความมั่นใจให้คนมาใช้บริการด้วย"

อาจารย์เคยได้ยินข่าวมั้ย การไปฉีดเชื้อแบบฟุ้งกระจาย มันทำให้เชื้อปลิวไปที่อื่น และติดคนอื่นได้ จริงมั้ย?

นพ.ทวี : "จริงๆ เชิ้อที่ติดตามพื้น โอกาสสัมผัสเข้าสู่ตัวน้อยมาก หนึ่งมือคุณต้องไปจับกับพื้น สองถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ หน้าคนเราไม่ได้ไถไปกับพื้น โอกาสติดน้อยมาก ตรงที่อยู่พื้นแป๊บเดียวก็ตาย ยิ่งตอนนี้อุณหภูมิบ้านเราแบบนี้ แป๊บเดียวตายหมด เชื้อละออง เสมหะ น้ำลายที่ฟุ้งกระจายในอากาศแล้วไปพ่นเป็นควัน ได้ประโยชน์แต่น้อย เพราะมันตกลงสู่พื้น"

เขาว่ามันจะกระจายตัวออก?

นพ. ทวี : "ที่ผมเห็นแล้วทำงานถูกต้องมาก คือรถเมล์ปรับอากาศ 140 มีคนเข้าไป มือนึงใส่ถุงมือ อีกมือถือคล้ายๆ ฟ็อกกี้แล้วฉีดเช็ดห่วง นี่เป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาฉีดใส่เบาะคนนั่งแล้วเอาผ้าเช็ดไปเรื่อย เขาไม่ได้ฉีดใส่พื้นนะ เขาฉีดใส่ห่วงที่มือคนจับแล้วผ้าเช็ดต่อ ถามว่าผ้าเช็ดจากคนนั่งที่เบาะมาที่ห่วง จากห่วงจะติดเบาะมั้ย ไม่เป็นไร มีน้ำยาอยู่ มันก็ตายหมด เป็นการทำที่ถูกต้องที่สุด ผมไม่เห็นเขาพ่นฟุ้งกระจายไปทั้งคันรถเลย"

พ่นกระจายเชื้อมีโอกาสปลิวมั้ย?

นพ.ทวี : "มีโอกาสปลิวได้ถ้าลมมันแรง โอกาสฟุ้งเป็นไปได้แต่น้อย ที่เห็นพ่นทางพื้นถนน ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วย"

สระว่ายน้ำตกอยู่ในกลุ่มที่สอง สีเหลือง สระว่ายน้ำไปเกี่ยวอะไรในเมื่อมีคลอรีน?

นพ.ทวี : "จริงๆ แล้วสระว่ายน้ำส่วนใหญ่คนไปเล่นคือเด็ก ซึ่งเด็กทางการแพทย์เรากลัวมาก เพราะมีโอกาสติดเชื้อและเอาเชื้อไปอยู่ในบ้าน แล้วในเด็กอาการไม่ค่อยรุนแรง เราจะกังวลกลุ่มนี้ค่อนข้างมากว่าอาการน้อยอาจทำให้ละเลยไป อาจคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา นั่นจุดที่หนึ่ง สองคือสระว่ายน้ำถามว่าเป็นตัวการในการแพร่เชื้อมั้ย ส่วนใหญ่ในการแพร่เชื้อมักเกี่ยวข้องทางเดินหายใจมากกว่าการกิน กลุ่มนี้ผมคิดว่าเร็วๆ นี้คงปลดล็อกไปหมด เหมือนกับแบดมินตัน หรือเทนนิส มันยืนห่างกันมาก โอกาสติดต่อกันยากไม่เหมือนนักมวย"

ความเสี่ยงสูงสุดคือร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต ศูนย์ประชุม สถาบันกวดวิชา สนามกีฬา ผับต่างๆ นานา?

นพ. ทวี : "ลองสังเกตดูนะ หนึ่งมีการรวมกลุ่มคนค่อนข้างเยอะในที่คับแคบ  ยกตัวอย่างสถาบันกวดวิชาถ้าเทียบกับโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนมันหลวมกว่า โรงเรียนผมว่าน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มล่างกว่านี้อีกหน่อย กวดวิชาเราจะเห็นว่ามันแน่นมาก หลายครั้งมีโรคระบาด ยุค 2009 ก็มีโรคระบาดในสถาบันกวดวิชา สิ่งเหลานี้ไม่ว่าจะอีเวนต์ต่างๆ ใหญ่ๆ รวมคนเยอะๆ จะอยู่กลุ่มสี่"

จะถูกเขยิบไปอีกเดือนนึง อาจารย์มองยังไง?

ผศ. วันวิชิต : "ผมเห็นชอบนะวางไว้ให้เป็นกลุ่มสุดท้าย กิจกรรมต่างๆ มันคาบเกี่ยวเคอร์ฟิวด้วย อย่างมวยเลิกเทียงคืน ฟุตบอลเตะเลิก 3-4 ทุ่ม การสัญจรรวมกลุ่ม คาบเกี่ยวกับที่รัฐบาลขยายเคอร์ฟิว สี่ทุ่มถึงตีสี่ สถานบันเทิงต่างๆ ผมยังไม่เชื่อว่าเขาจะรับผิดชอบโซเชียลดีสแทนซิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ มันเป็นไปไม่ได้ ต่อให้ผู้ประกอบการบอกจะมีการแก้ไข ผมว่าแค่ทำให้สื่อมาเห็น หลังจากนั้นก็เข้าสู่ภาวะปกติแบบไทยๆ ผมว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ช้าที่สุด เขาบอกว่าเขาจะอดตาย คนที่อดคือคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการเขามีธุรกิจสำรอง อะไรต่างๆ เยอะแยะ อันนี้อย่าไปกังวล ผมเห็นด้วยว่าการย้ายไปอีก 1 เดือนเหมาะสมที่สุดแล้ว และค่อยๆ ปลดล็อกไปตามมาตรการที่เป็นไปตามธรรมชาติ"

เรื่องเคอร์ฟิวล่ะ?

ผศ. วันวิชิต : "แน่นอนว่าที่ผ่านมาตลอด 5 สัปดาห์ จะเห็นว่าบางกลุ่มก็ยังท้าทายกฎหมาย ยังออกมาซิ่ง กินเหล้า บางวันมีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาฝ่าฝืนเสียเอง แสดงว่ามาตรการการควบคุมยังจำเป็นอยู่ ถ้า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาคนอยู่ในระเบียบวินัย เชื่อว่าคงไม่มีการขยาย 1 เดือน เพราะคนไทยกันเองให้ความร่วมมือ แต่ยังมีคนบางจังหวัดบางพื้นที่ออกมาเย้ยกฎหมายอยู่ แล้วช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ กลุ่มประกอบอาชญากรรมที่ตร.เฝ้าลาดตระเวนต่างๆ อย่างยาเสพติด อาชญากร เขาใช้เวลาช่วงนี้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เขาต้องมาควบคุมตัดวงจร สิ่งสำคัญที่สุดจุดแข็งที่ตัวเลขเราไปไม่สูง คือการคว่ำบาตรทางสังคมของเราดีมาก หมายถึงใครประพฤตินอกลู่ โลกออนไลน์จะพิพากษาและตามจิก ทำให้เกิดจิตสำนึก ออกมาขอโทษ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่คือจุดแข็งด้านนึงนอกจากระบบอสม. ที่เป็นปราการหน้า นี่เป็นภูมิคุ้มกันของเราที่ดีมาก แม้กระทั่งการคัดกรอง ใครปล่อยข่าวเฟกนิวส์ เขาจัดการให้เสร็จสรรพ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ตรงนี้ของเราโลดแล่นได้ดีมาก"

สมมติคลายล็อกดาวน์ด่านแรกไปแล้ว บังเอิญตัวเลขขึ้นไปอีก ทำยังไง?

นพ. ทวี : "ประเด็นคือขึ้นแค่ไหน ถ้าวันนี้ 7 ค่อยๆ ขยับเป็น 17 ถ้ากลายเป็น 27 เมื่อไหร่ที่การแพทย์เรารับมือได้เรายังสบายใจ และต้องสืบได้ว่าต้นตออยู่ที่ไหน ต้นตออยู่ไหนเราจัดการได้ อย่างในกลุ่มสี่ เรามีเหตุมีผลทั้งหมด ว่า 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มใหญ่ที่ก่อปัญหาคืออยู่ตรงนั้นหลายแห่ง มาตรการไม่คลายล็อกตรงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะเรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นสิ่งสำคัญเวลาคลายล็อก อยากให้การแพทย์ทำงานหนักขึ้นนะ ไม่ใช่เบาลง ต้องหนักขึ้น มีการคัดกรองมากขึ้น มีการตรวจสอบดูระบบ  3 เดือนที่ผ่านมา มีตรงไหนเป็นช่องโหว่ต้องรีบทำ เพราะเราอาจต้องเจอรอบที่สอง"

ปัญหาคือการพบปะของคนหมู่มาก เลยมีโอกาสติดและกระจายได้มาก แล้วถ้าเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม จะขึ้นมาอีกมั้ย?

นพ.ทวี : "คงมีการคลายล็อก แต่อยากให้ดูที่อู่ฮั่น ตอนนี้ห้างเขาเปิด ร้านอาหารเขาก็เปิด แต่ปรากฎว่าธุรกิจเขาไม่ดี หลังปิดไป 2-3 เดือน คนเริ่มเคยชินกับชีวิต ร้านอาหารที่เขาส่ง มีคนโทรศัพท์มาสั่งซะมากกว่า เขาไม่ไปนั่งแล้ว อันนี้ต้องเข้าใจนะ ไม่ใช่เปิดมาแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิมนะ ลูกค้าคุณอาจไม่เหมือนเดิม คุณต้องอ่านเกมให้ออกด้วย หลังจากนี้พฤติกรรมใหม่ของคนกำลังเปลี่ยนไป"

ผศ. วันวิชิต : "ผมเห็นด้วย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น ทำให้ผู้ประกอบการเขาควบคุมค่าใช้จ่ายได้ อย่างเด็กเสิร์ฟ ล้างจาน เขาอาจไม่จำเป็นต้องจ้าง เขาต้องปรับตัว วิกฤตเป็นโอกาสได้เยอะ ถ้าโควิดกลับมาในลูป 2 เหมือนสิงคโปร์ ญี่ปุ่นก็อย่าตกใจ หากมองปรากการณ์ตรงนี้ นึกถึงว่าถ้านักวิเคราะห์บอกว่าโควิดจะอยู่กับเรา 10 ปี ในช่วง 10 ปี จะหาวัคซีนมาป้องกัน มาต่อสู้กับมันเราก็คิดถึงว่าจะมีรพ. รักษาโควิดโดยเฉพาะ เพื่อแยกให้เด็ดขาด ตอนนี้หากเป็นลักษณะเช่นนี้ ใครไปตรวจก็เสียเวลาคัดกรอง ทั้งที่เป็นโรคปกติ ใช้วิกฤตตรงนี้มามองเป็นโอกาสต่างๆ"

นพ.ทวี : "สิ่งนี้เรามองอยู่แล้ว หนึ่งคงไม่ได้มาแล้วไป ยังต้องอยู่เป็นลูกคลื่นไปเรื่อยๆ ผมชอบคิดเปรียบเทียบเรื่องเต่ามาทีละตัวๆ ตัวถัดไปก็จะมา สองแล้วจะอยู่เป็น 10 ปีมั้ย ผมไม่คิดว่าจะอยู่ถึง 10 ปี เพราะวัคซีนคือคำตอบสุดท้าย"

จะมาเมื่อไหร่?

นพ. ทวี : "อย่างน้อยที่สุดที่เขาประเมินไม่ต่ำกว่า 9-12 เดือน ต้องยื้อให้ได้"

ผศ. วันวิชิต : "มาตรการการเยียวยาอย่าช้าจนคนบ่น ต้องมีมาตรการเร่งรัดและเร็วมากกว่านี้ และภาครัฐต้องน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ศึกษาปัญหาทุกกรณี โดยเฉพาะการตีความเรื่องอาชีพผู้มีสิทธิ์พึงได้ในการได้รับการเยียวยา ในต่างประเทศ รัฐเยียวยาผู้ประกอบการ อย่างกรณีนิวซีแลนด์ ใครตกงาน มีฐานชำระผู้เสียภาษี เขาจ่ายให้เลย 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น"

ทางมุมสาธารณสุข เอาอยู่?

นพ. ทวี : "เอาอยู่ ถูกต้องและจำเป็น เป็นเวลาที่ถูกต้องและจำเป็นด้วย แต่การแพทย์และสาธารณสุขต้องทำงานมากขึ้นอีก"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook