นักวิจัยทดสอบ “ฮอร์โมนเพศหญิง” รักษาผู้ป่วยชายจากโรค COVID-19

นักวิจัยทดสอบ “ฮอร์โมนเพศหญิง” รักษาผู้ป่วยชายจากโรค COVID-19

นักวิจัยทดสอบ “ฮอร์โมนเพศหญิง” รักษาผู้ป่วยชายจากโรค COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคน แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ผู้หญิงจะมีอาการป่วยน้อยกว่า และมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะในประเทศจีน อิตาลี หรือสหรัฐอเมริกา จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า “ฮอร์โมนที่ผลิตได้ในร่างกายของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายจะสามารถใช้ได้ผลในการรักษาโรค COVID-19 หรือไม่”

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทุกวิถีทางในการหาวิธีการรักษาชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นผู้ชาย และกำลังทดสอบสมมติฐานดังกล่าว โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แพทย์จากลองไอส์แลนด์ในนิวยอร์กได้ทดลองรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และในสัปดาห์หน้า แพทย์จากลอสแองเจลิสจะเริ่มรักษาผู้ป่วยชายด้วยฮอร์โมนที่พบมากในร่างกายของผู้หญิง นั่นคือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และสามารถป้องกันการทำงานที่รุนแรงเกินไปของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ซารา กันเดฮารี นักวิทยาปอดและแพทย์ในหอผู้ป่วยหนักขององค์กรซีดาร์-ไซนาย ลอสแองเจลิส ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิงในหอผู้ป่วยหนักนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยชายจะมีอาการหนักกว่า โดย 75% ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย

ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมีภาวะแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง แต่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสูง ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีอาการไม่มาก ซึ่ง ดร.กันเดฮารีกล่าวว่า มีบางอย่างในร่างกายของผู้หญิงและการตั้งครรภ์ที่ช่วยป้องกันร่างกาย และนักวิจัยคิดว่าน่าจะเป็นฮอร์โมน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างของเพศในภูมิคุ้มกันร่างกาย เตือนว่า ฮอร์โมนอาจจะไม่ได้เป็นยาวิเศษอย่างที่หลายคนคาดหวัง เพราะแม้แต่ผู้หญิงสูงวัยที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 ก็ยังมีอายุยืนกว่าผู้ชาย และยังมีการลดระดับของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วในผู้หญิง เนื่องจากภาวะหมดประจำเดือน

ดร.ชารอน นาคแมน หัวหน้านักวิจัยที่ทดสอบฮอร์โมน ระบุว่า การทดสอบฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ค ในลองไอส์แลนด์ และเริ่มรับสมัครผู้ป่วยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และผลการทดสอบเบื้องต้นจะเปิดเผยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะรับสมัครผู้ป่วยทั้งหมด 110 คน ที่เข้ารักษาในแผนกฉุกเฉิน และมีอาการเป็นไข้ ไอ หายใจติดขัด หรือเป็นโรคปอดอักเสบ รวมทั้งผู้ที่มีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก หรือผู้ที่สันนิษฐานว่าป่วย และไม่ใช่ผู้ที่ต้องใส่ท่อหายใจ

นอกจากนี้ การทดสอบยังเปิดรับผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อย ผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบครึ่งหนึ่งจะได้รับแผ่นฮอร์โมนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ควบคุม และนักวิจัยจะติดตามดูว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้หรือไม่

ส่วนการศึกษาในซีดาร์-ไซนายนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบเป็นผู้ชายเพียง 40 คน ครึ่งหนึ่งจะเป็นกลุ่มควบคุม และใช้ผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ที่มีอาการไม่หนัก ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดสอบจากได้รับการฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน และนักวิจัยก็จะติดตามดูว่าอาการพัฒนาหรือไม่ ความต้องการออกซิเจนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และยังต้องการที่จะรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนักหรือใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ จากนั้นก็จะมีการเปรียบเทียบกับผู้ป่วยในกลุ่มควบคุม

นักวิจัยในลอสแองเจลิสตั้งความหวังไว้กับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าฮอร์โมนดังกล่าวสามารถลดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นสารตั้งต้นของการอักเสบ โดยสมมติฐานก็คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะป้องกันหรือต้านปฏิกิริยาที่รุนแรงเกินไปของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เรียกว่าพายุไซโตไคน์ และจะลดแนวโน้มของอาการหายใจลำบากเฉียบพลันได้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฮอร์โมนทั้งสองนั้นมีความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในระยะเวลาที่จำกัด ผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบจะได้รับคำเตือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ชาย เช่น เต้านมที่นิ่มขึ้นและอาการร้อนวูบวาบ

ช่องว่างระหว่างเพศในการรอดชีวิตจากโรค COVID-19 เห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดใหญ่ รายงานจากประเทศจีนชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยชายนั้นมีสูงกว่า ทว่าความแตกต่างนี้ยังมาจากอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจก็เป็นไปในทางเดียวกันกับประเทศอื่น คือผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศระบุว่า ทั้งความแตกต่างด้านชีวภาพในภูมิคุ้มกัน และปัจจัยด้านพฤติกรรมล้วนมีส่วนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชายสูบบุหรี่แทบทุกที่และไม่ค่อยล้างมือ ในขณะที่ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีความซับซ้อนและมีปัจจัยร่วมหลายอย่าง และฮอร์โมนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่นี้เท่านั้น

ซาบรา ไคลน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องความแตกต่างทางเพศในการติดเชื้อไวรัสและวัคซีน กล่าวว่า หากฮอร์โมนเพศเป็นปัจจัยสำคัญในการปกป้องร่างกายของผู้หญิง ผู้หญิงสูงอายุที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 ก็ต้องป่วยหนักพอๆ กับผู้ชายสูงอายุ เนื่องจากฮอร์โมนเพศของผู้หญิงจะลดลงหลังจากหมดประจำเดือน ดังนั้น เธอจึงมองว่าน่าจะเกี่ยวกับพันธุกรรมด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องฮอร์โมนเท่านั้น

“งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจจะส่งผลต่อโปรตีนที่เรียกว่า ACE2 ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาจะใช้โปรตีนชนิดนี้เป็นตัวรับบนพื้นผิวของเซลล์ และ ACE2 จะถูกควบคุมแตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิง” แคทธริน แซนด์เบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาความแตกต่างด้านเพศในสุขภาพ วัย และโรค (Center for the Study of Sex Differences in Health, Aging and Disease) มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าว

จากการศึกษาวิจัยในหนู ดร.แซนด์เบิร์กและทีมงานพบว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดปริมาณของโปรตีน ACE2 ที่ผลิตในไต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนชนิดนี้จะลดปริมาณของ ACE2 ในร่างกายของผู้ชายเช่นกัน

ดร.นาคแมนกล่าวว่า ขณะนี้นักวิจัยยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานอย่างไร แต่อาจจะสังเกตได้จากร่างกายของผู้ป่วย และเสริมว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทที่สำคัญ ทั้งในการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในขั้นแรก ที่จะช่วยกำจัดการติดเชื้อไวรัส และในขั้นที่สอง คือการทำความสะอาดหรือซ่อมแซมการตอบสนอง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นพายุไซโตไคน์ได้

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook