นักวิจัยเผย ทะเลเงียบจาก “COVID-19” ส่งผลดีต่อสัตว์ทะเล

นักวิจัยเผย ทะเลเงียบจาก “COVID-19” ส่งผลดีต่อสัตว์ทะเล

นักวิจัยเผย ทะเลเงียบจาก “COVID-19” ส่งผลดีต่อสัตว์ทะเล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่ต่างๆ ในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ส่งผลดีอย่างไม่น่าเชื่อต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ป่าไม้ และน้ำ และล่าสุด การลดลงของมลภาวะทางเสียงใต้น้ำช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถคาดการณ์ได้ว่า วิกฤตครั้งนี้อาจส่งผลดีต่อวาฬและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่นๆ

นักวิจัยได้ทดสอบสัญญาณเสียงใต้น้ำแบบเรียลไทม์จากจุดสังเกตการณ์บนพื้นใต้ทะเล ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายมหาสมุทรแคนาดา (Ocean Networks Canada) ใกล้กับท่าเรือแวนคูเวอร์ และพบว่าเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำที่เกี่ยวข้องกับเรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เดวิด บาร์เคลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมหาสมุทรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยดัลฮูซี ได้ทดสอบพลังงานเสียง โดยวัด “ความดัง” ในช่วงความถี่ 100 เฮิร์ตซ์ จากพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ บนแผ่นดินใหญ่และในทะเลที่ห่างไกลจากชายฝั่ง และค้นพบว่าเสียงดังลดลงจากพื้นที่ทั้งสอง

“เราทราบกันโดยทั่วไปว่าเสียงใต้ทะเลที่ความถี่ระดับนี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล มีการลดลงของเสียงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงราว 4 – 5 เดซิเบล จนถึงวันที่ 1 เมษายน ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าลดลงราว 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน” บาร์เคลย์กล่าว

ส่วนพื้นที่ใต้ทะเลลึก ราว 60 กม. จากเส้นทางการเดินเรือ และ 3,000 เมตรจากผิวน้ำ ยังมีการลดลงของเสียงเฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่ที่ 1.5 เดซิเบล หรือลดลงประมาณ 15% ของพลังงานเสียง ซึ่งทำให้เราเห็นว่าขนาดของเสียงที่ลดลงเป็นสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ การเดินเรือในมหาสมุทรที่ลดลงยังเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์หันมาศึกษาผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ที่มีต่อสัตว์ทะเล

“เรากำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาแห่งสัจธรรม เรามีโอกาสที่จะฟังและโอกาสในการฟังนั้นอาจจะไม่ปรากฏขึ้นมาอีกแล้วในชีวิตนี้” มิเชลล์ ฟูร์เนต์ ผู้ชำนาญด้านโสตศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับวาฬหลังค่อมทางตะวันออกเฉียงใต้ของอะแลสกากล่าว

หลังจากเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 การเดินเรือและการเดินทางทางอากาศในอเมริกาเหนือลดลง นักวิจัยของสหรัฐอเมริกาจึงสามารถศึกษาเกี่ยวกับวาฬในมหาสมุทรที่เงียบสงบกว่าเดิม และได้ข้อสรุปว่า เสียงดังจากเรือมีความเกี่ยวพันกับความเครียดเรื้อรังของวาฬบาลีน หรือวาฬไม่มีฟัน

“มีวาฬบางรุ่นที่ไม่เคยรู้จักมหาสมุทรที่เงียบสงบ” ฟูร์เนต์กล่าว ผลงานการวิจัยของเขาระบุว่า วาฬเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการส่งเสียงร้องในการตอบสนองต่อมหาสมุทรที่มีเสียงดัง

“สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวาฬในทางตะวันออกเฉียงใต้ของอะแลสกาก็คือ เมื่อเกิดเสียงดัง วาฬจะส่งเสียงร้องน้อยลง และจะยิ่งน้อยลงเมื่อมีเรือแล่นผ่าน” ฟูร์เนต์กล่าว

ช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นการเริ่มต้นของฤดูการเดินเรือท่องเที่ยวในอะแลสกา ทว่าวิกฤตโรคระบาดทำให้การเดินเรือต้องหยุดชะงักลง ซึ่งฟูร์เนต์กล่าวว่า เขาหวังว่าจะเห็น “โอกาสที่วาฬจะมีบทสนทนามากขึ้น และเป็นบทสนทนาที่ซับซ้อนกว่าเดิม”

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ต่างก็รวบรวมข้อมูลจากโอกาส “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่จะได้ฟังเสียงของวาฬครั้งนี้ โดยศูนย์สิ่งแวดล้อม การประมง และวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Cefas) สหราชอาณาจักร ได้ติดตั้งไมโครโฟนใต้น้ำเพื่อเก็บข้อมูลเสียงจากพื้นที่ 4 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในทะเลเหนือ อีกแห่งอยู่ในพลิมัท และอีกแห่งอยู่ใกล้กับบังกอร์

นาธาน เมอร์ชันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสวนศาสตร์จาก Cefas กล่าวว่า “พวกเรากำลังรอด้วยใจระทึกว่าเสียงของวาฬจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ เมอร์ชันท์ยังกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามในระดับนานาชาติ ในการร่วมมือกันติดตามและเฝ้าระวังเสียงใต้ทะเล รวมทั้งหาวิธีการที่จะทำให้มหาสมุทรเงียบสงบขึ้น เพื่อจะได้ศึกษาถึงผลดีของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook