ทปอ.ค้านยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ

ทปอ.ค้านยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ

ทปอ.ค้านยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทปอ.ค้านเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ "ทักษิณ" ส่งหนังสือยับยั้งราชเลขาธิการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ชี้เหตุมหาวิทยาลัยต้องช่วยชี้นำสังคม เชื่อประชาชนเข้าใจ ลั่น ทปอ.ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เป็นกลาง มีเหตุผลวิชาการรองรับ พร้อมเตรียมล่ารายชื่อ ม.ราชภัฎ ราชมงคล เอกชน ที่เห็นพ้องเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม เสื้อแดงทั่วประเทศหลั่งไหลเข้าร่วมชุมนุมที่สนามหลวง

ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2552 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กล่าวว่าจากกรณีที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขอให้ร่วมลงชื่อในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ขณะนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ ทั้ง 26 แห่ง เช่น จุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นต้น ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว โดยมองว่ามหาวิทยาลัยน่าจะมีส่วนช่วยชี้นำสังคม และหาทางออกโดยใช้หลักวิชาการเป็นตัวกลาง ไม่ใช้ความรู้สึก อีกทั้งยุติความขัดแย้งบางส่วนที่อาจเกิดขึ้นได้

"หากสังคมมองว่าการดำเนินการของ ทปอ.เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทปอ.พร้อมชี้แจ้ง และยืนยันว่าไม่ได้โจมตีที่ตัวบุคคล ดังนั้น สังคมน่าจะเข้าใจการกระทำของทปอ.ในการเรียกร้อง เพราะ ทปอ.ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือต้องการให้ใครแพ้ชนะ แต่สิ่งที่ทปอ.ทำล้วนมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ" ประธานทปอ.กล่าว

ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า ทปอ.จะดำเนินการประสานไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ รวมกว่า 100 แห่ง ที่เห็นสอดคล้องร่วมลงชื่อ พร้อมจัดส่งหนังสือไปยังราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อขอให้ใช้ดุลยพินิจยับยั้งไม่นำฎีกาที่เป็นเรื่องการเมืองโดยตรงถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในส่วนของคณาจารย์จุฬาฯ ได้มีการพูดคุยถึงและเห็นตรงกันให้ทำหนังสืออีกฉบับไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเนื้อหาสาระในหนังสือที่กลุ่มอธิการบดีลงนามนั้น มีเหตุผลในการขอให้ทางราชเลขาธิการยับยั้งการยื่นถวายเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้ 1.ฎีกาดังกล่าวมิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259-267และขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 ที่ห้ามมิให้ถวายฎีกาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้พิจารณาเสร็จเด็ดขาดแล้ว และมิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งผู้ขอจะต้องเป็นผู้ถูกพิพากษาลงโทษหรือบุคคลในครอบครัว และไม่มีช่องทางใดที่พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานอภัยโทษตามที่ฎีกาดังกล่าวร้องขอได้

2.ฎีกาดังกล่าวมิใช่ฎีการ้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรม ซึ่งอาจกระทำได้ตามโบราณราชนิติประเพณี ซึ่งจะต้องเป็นการขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเพื่อให้มีความช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถวายฎีกาอันเป็นความทุกข์ยากเดือดร้อนโดยส่วนตัวของผู้ถวายฎีกาเอง หากแต่เป็นการถวายฎีกาที่มีความมุ่งหมายให้พระราชทานอภัยโทษแก่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีใช่ผู้ขอถวายฎีกา

3.ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาที่มุ่งประสงค์ทำให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจก้าวล่วงองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยขอให้พระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฏีกามีคำสั่งเด็ดขาดแล้วให้จำคุก และยังคงมีคดีค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกาอีกหลายคดี ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานและทั้งที่ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และได้ออกหมายจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป ทั้งยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการเพื่อรอส่งฟ้องต่อศาลอีกเป็นจำนวนมาก การขอพระราชทานอภัยโทษให้แก้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นทั้งจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกหลายคดี และเป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่มุ่งหมายต้องการให้พระมหากษัตริย์ก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจแทนตุลาการโดยตรง ซึ่งไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย

4. ฎีกาดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองโดยชัดแจ้ง โดยได้บรรยายความขัดแย้งและความเชื่อทางการเมืองของผู้ร่างที่ระว่า การกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมาได้รับความเป็นไม่เป็นธรรม และถูกกลั่นแกล้ง จากองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหมดทั้งจากรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา องค์กรตุลาการ และจากกลไกอื่น ๆของรัฐทั้งที่ได้มีคำพิพากษาของศาลสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำดังกล่าวมาแล้วว่า เป็นไปโดยทุจริตและละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหลายประการฎีกาดังกล่าว จึงเป็นการนำเอาข้อขัดแย้งในทางการเมืองที่มีผู้เห็นแตกต่างกันอยู่หลายฝ่าย ขึ้นกราบบังคับทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย อันเป็นเรื่องไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่ความขัดแย้งเป็นการฝักฝ่ายทางการเมืองโดยตรง

5.ฎีกาดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร่างและชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อ ได้ทราบอยู่แต่ต้นว่าโดยเหตุทั้ง 4 ประการที่กล่าวมา ย่อมไม่อาจมีพระราชวินิจฉัยในทางหนึ่งทางใดได้แต่มุ่งหวังว่าเมื่อมีประชาชนจำนวนมากที่สุจริตย่อมไม่ทราบข้อกฎหมายและธรรมเนียมปฎิบัติในเรื่องนี้มาร่วมลงชื่อในฎีกาแล้ว ก็จะทำให้เกิดความกดดันและมีความคาดหวังว่า จะได้มีพระราชวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้ เมื่อการณ์เป็นไปดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชนและในระหว่างประชาชนผู้ไม่ทราบหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและธรรมเนียมปฎิบัติในเรื่องนี้กับประชาชน โดยทั่วไปและกับสถาบันสูงสุดของชาติทำให้เกิดความไม่เข้าใจและคับข้องใจอันนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ประชาชนและเกิดความเสียหายรุนแรงที่สุดต่อประเทศชาติ และต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีสิ่งที่ชาวไทยทั้งมวลยึดมั่นมาโดยตลอด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook