นักสังคมสงเคราะห์ให้คำปรึกษาผ่านแอปฯ “clicknic” ช่วยผู้เคยติดเชื้อโควิด-19
สสส. จับมือภาคี พัฒนานักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาให้คำปรึกษาผ่านแอปฯ “clicknic” เสริมความมั่นใจผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 หลังพบผู้เข้าระยะฟื้นฟูที่บ้าน 14 วัน เครียดหนัก นับถือตัวเองน้อยลง
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการเสริมพลังภาคี สสส. เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคลินิก เทเลเมดิซีน มีจุดมุ่งหมายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว และเข้าสู่ระยะฟื้นฟูที่บ้านอีก 14 วัน โดยได้กำลังหลักจากนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศที่สมัครเข้ามาเป็นจิตอาสาพูดคุยกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ปลอดเชื้อ ผ่านระบบ Telemedicine หรือระบบการแพทย์ทางไกล ในแอปฯ “clicknic” ที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์นำมาใช้คัดกรองผู้ป่วย ต่อเนื่องไปจนถึงการดูแลทางสังคมและจิตใจ หลังจากหายติดเชื้อแล้ว
“ล่าสุด สสส. ได้บูรณาการแผนงานในองค์กร ระหว่างแผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ และแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต ระดมรับสมัครนักจิตวิทยาจิตอาสาและนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทุกคนจะต้องได้รับการอบรมทางไกลก่อนจะเริ่มทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่คาดว่าจะทยอยออกจากโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโมเดลให้กับอีกหลายๆ โรงพยาบาลนำไปปรับใช้” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นหลังจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เปิดรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสามีหน้าที่เสริมพลัง สร้างความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพราะผู้ที่หายป่วยแล้วมักมีความเครียด นับถือตัวเองน้อยลง นอกจากนี้จะต้องให้ความรู้ในครอบครัวต่อการดูแลตัวเองไม่ให้กลับมาติดเชื้อซ้ำอีก คอยแนะนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในช่วงกักตัว ไม่หมกมุ่นกับการรับข่าวสารทางมือถือมากเกินไป ตลอดจนให้ความรู้แก่ครอบครัว ชุมชน คนรอบข้าง ซึ่งคนเหล่านี้มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยมากที่สุด
“ที่ผ่านมามีผู้เข้าสู่ระยะฟื้นฟูที่บ้านประมาณ 40 ราย บางรายมีความกังวลสูง กลัวคนอื่นรู้ว่าเคยติดเชื้อและจะไม่ถูกยอมรับ แต่นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาจะให้คำปรึกษา เสริมกำลังใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่คนเดียว ซึ่งต้องขอขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่ายที่ให้ความสำคัญไม่ปล่อยให้ผู้ที่เคยติดเชื้อต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากทางจิตใจเพียงลำพัง รวมทั้งการแนะนำบริการทางสังคมของหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการของรัฐลง การดูแลระยะฟื้นฟูทางสังคมมีความสำคัญที่จะลดปัญหาสังคมที่จะตามมาหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเป็นช่องโหว่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้ ตามที่เริ่มปรากฎเป็นข่าวมาแล้ว” ศ.ระพีพรรณ กล่าว