วันนี้วันอะไร? เมื่อการกักตัวช่วง COVID-19 ทำคนเรางงกับวันเวลา

วันนี้วันอะไร? เมื่อการกักตัวช่วง COVID-19 ทำคนเรางงกับวันเวลา

วันนี้วันอะไร? เมื่อการกักตัวช่วง COVID-19 ทำคนเรางงกับวันเวลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะเริ่ม “งง” กับวันเวลาที่ผ่านไป เมื่อต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19 ระบาด ซึ่งนานวันเข้า ดูเหมือนว่าแต่ละวันจะผสมปนเปกัน มีเพียงเมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ และในที่สุดเราก็จะพบว่าเราลืมแม้กระทั่งรายละเอียดที่เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด

นอกจากความงุนงงสับสนแล้ว เรายังรู้สึกว่าไม่มีสมาธิและใช้เวลาในการทำภารกิจต่างๆ นานขึ้น ราวกับว่าสมองของเราทำงานได้ช้าลง ภาวะแบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เกิดจากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่ที่มีต่อสุขภาพทางกระบวนการคิดของเรา ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการคิดอย่างชัดเจน เรียนรู้ และจดจำ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การสูญเสียเครื่องยึดเหนี่ยวทางสังคม และความตึงเครียดทางกระบวนการคิดที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นพายุใหญ่เลยทีเดียว” เอลิสซา เอเพล ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าว “และยิ่งกว่านั้น คนส่วนใหญ่มักไม่ได้นอนหลับอย่างเต็มที่อย่างที่เคยเป็น”

เกิดอะไรขึ้นกับสมองของเรา และเราจะทำอย่างไรต่อไป นี่คือคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ

การสูญเสียกิจวัตรประจำวัน

เอเพลกล่าวว่า นอกจากร่างกายของเราจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม อย่างแสงแดด ในการขับเคลื่อนจังหวะรอบวันแล้ว เรายังต้องพึ่งพาปัจจัยทางกายภาพและสังคมด้วย ปัจจัยที่ว่านี้ก็ได้แก่ กิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินทางในตอนเช้าและตอนเย็น การกำหนดมื้ออาหาร หรือกิจกรรมทางศาสนาแต่ละสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เราจำได้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร

แต่สำหรับผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน กิจวัตรเหล่านั้นกลับหายไปหมด วันต่างๆ สูญเสียโครงสร้างตามปกติ ซึ่งทำให้ขอบเขตของวันเหล่านั้นจางลง

“เราสูญเสียกิจวัตรในสัปดาห์ปกติไปทั้งหมด นั่นหมายความว่าการมีวันหยุดเป็นเส้นแบ่งหรือเป็นสิ่งที่เรารอคอยก็หายไปเช่นกัน เพราะตอนนี้วันหยุดก็เหมือนวันทำงาน”

เนื่องจากที่ทำงานก็คือบ้าน และบ้านก็คือที่ทำงานสำหรับหลายคน บางคนจึงพบว่าตัวเองทำงานนานกว่าเดิม หรือทำงานในวันหยุดด้วย สิ่งที่หายไปก็คือชั่วโมงพักผ่อน การชมคอนเสิร์ต และการชมการแข่งขันกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างวันธรรมดากับวันหยุด ส่งผลให้วันต่างๆ ยืดออกไปในที่สุด

การสูญเสียกิจวัตรยังหมายถึงการใช้พลังทางจิตใจที่มากขึ้นกว่าเดิมในการกำหนดว่าแต่ละวันจะทำอะไร

“เมื่อเรามีกิจวัตรประจำวัน คุณไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน” ลินน์ บัฟกา รองผู้อำนวยการบริหารด้านการวิจัยและนโยบายของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) อธิบาย “ดังนั้น ขณะที่คุณเหนื่อยกับการเดินทาง จะไม่มีบทสนทนาที่สองในหัวของคุณ ที่พยายามคิดว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง”

สำหรับผู้ที่ยังต้องเดินทางไปทำงาน กิจวัตรของคุณจะมีลักษณะที่ต่างออกไป เนื่องจากจะมีความตึงเครียดจากความพยายามรักษาระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความงุนงงสับสนได้เช่นกัน

เราทำงานหลายอย่างมากขึ้น

การรับผิดชอบภารกิจหลายอย่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือลูก หรือดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้เราต้องหยุดทำงานประจำ หรือจัดการกับความเครียดจากการถูกออกจากงาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่เดิม และมักจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เราจึงพบว่า เราสลับไปทำภารกิจต่างๆ บ่อยครั้งขึ้น หรือในอีกทางหนึ่งก็คือ เราถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงจากการใช้หน้าจอจำนวนมาก หรือเสพข่าวมากเกินไปในแต่ละวัน เอเพลกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เพิ่มภาระให้กับกระบวนการคิด หรือใช้ทรัพยากรทางจิตใจของเรามากขึ้นนั่นเอง

“ความทรงจำใช้งานของเราเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด เราสามารถใช้มันอย่างง่ายดายโดยการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากเกินไปในคราวเดียว และพยายามสั่งจิตของเราให้ทำงานหลายอย่าง” เอเพลกล่าว ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่เราพยายามอย่างมากในการระลึกถึงข้อมูลพื้นฐาน หรือพยายามทำภารกิจที่เคยชินด้วยประสิทธิภาพที่เท่าเดิม

“เมื่อคนเราพยายามทำภารกิจหลายอย่างพร้อมกัน ก็จะทำให้การเข้ารหัสข้อมูลตรงหน้าทำได้ยากมากขึ้น ดังนั้น ข้อมูลนั้นก็จะไม่ได้รับการเก็บ และเราก็จะจำไม่ได้ว่าเราทำอะไรอยู่ หรือพูดอะไรออกไป” อิงเกอร์ เบิร์นเน็ตต์-ซิกเลอร์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าว

การเปลี่ยนแปลงฉับพลันทำให้เกิดความเครียด

เบิร์นเน็ตต์-ซิกเลอร์อธิบายว่า การที่เราจำไม่ได้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร อาจเป็นอาการของความเครียดได้เช่นกัน

โรคระบาดใหญ่กำลังกลายเป็นต้นเหตุของความเครียดเรื้อรังที่กินเวลานานเป็นสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นเดือนสำหรับบางคน ระดับความเครียดที่สูงจะทำให้เราเสียสมาธิ และอาจส่งผลกระทบต่อความทรงจำในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ ความเครียดยังส่งผลต่อการนอนหลับด้วย

“โดยปกติ หากคุณรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ความคิดและความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้คุณหลับได้ยาก และหลับไม่สนิท” เบิร์นเน็ตต์-ซิกเลอร์กล่าว พร้อมเสริมว่า อาการนอนไม่หลับจะทำลายกระบวนการคิด สมาธิ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจึงแนะนำให้รักษาความรู้สึกเกี่ยวกับโครงสร้าง (sense of structure) เอาไว้ เช่น การเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน รวมทั้งการพักเบรกให้บ่อยขึ้น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และจำกัดการเสพข่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook