การบินไทยออกโรงโต้ข่าวลือ หยุดบินต่ออีก 4 เดือน ย้ำพร้อมบริการเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย

การบินไทยออกโรงโต้ข่าวลือ หยุดบินต่ออีก 4 เดือน ย้ำพร้อมบริการเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย

การบินไทยออกโรงโต้ข่าวลือ หยุดบินต่ออีก 4 เดือน ย้ำพร้อมบริการเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อคืนนี้ (29 เม.ย.) เวลาประมาณ 21.00 น. ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระแสข่าวที่บริษัทฯ จะขยายเวลาหยุดทำการบินออกไปอีก 4 เดือน ว่าไม่เป็นความจริง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

"ตามที่มีกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดีย เรื่องการบินไทยขยายเวลาหยุดทำการบินต่อไปอีก 4 เดือน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 นั้น

นาวาอากาศตรี สรเดช นามเรืองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาค และมีหลายประเทศยังมีมาตรการปิดประเทศ (Lock Down) ประกอบกับรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีคำสั่งขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทำให้ยังไม่มีปริมาณผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้งในทันทีหลังสถานการณ์คลี่คลาย มิได้ประกาศหยุดบินต่อไปอีก 4 เดือนตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงทำการบินให้บริการขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย"

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการฟื้นฟูการบินไทยที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุม คนร.ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ คนร. ภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ)

ซึ่งภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คนร.ได้พิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาของ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังมาแล้ว ซึ่ง คนร.เห็นด้วยในหลักการของแผนดังกล่าวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวของการบินไทยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืน และได้มอบให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อผลักดันงานเร่งด่วนของ คนร. คือ คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยมีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ

ขณะที่มีรายงานเพิ่มเติมว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ คนร. เห็นชอบในหลักการดังกล่าวนั้น คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เร็วที่สุดคือวันอังคารที่ 5 พ.ค. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในแวดวงการบินและใกล้ชิดกับฝ่ายนโยบายการเมือง ให้ข้อมูลกับ Sanook เพิ่มเติมว่า แผนเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่การบินไทยต้องเร่งดำเนินการมีอยู่ด้วยกัน 2-3 เรื่อง คือ

  1. การเพิ่มสภาพคล่อง ที่ปัจจุบันการบินไทยมีสภาพคล่องถึงเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่ง คนร.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทฯ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่จะไม่ใช่การกู้ก้อนใหญ่ทั้งก้อนมาทีเดียว จะเป็นการทยอยกู้เป็นระยะตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้ เพื่อกระตุ้นให้การบินไทยเร่งปรับตัวให้ได้ตามแผน รวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายในองค์กรลงด้วย
  2. การเร่งสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับธุรกิจการบิน เพื่อขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูให้การบินไทยเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งการสรรหาบอร์ดชุดใหม่ และดีดีคนใหม่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารในกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่หารือกันแล้วได้บทสรุปตรงกันก็คือ การคงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทยเอาไว้เหมือนเดิม แม้ว่ากระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน แต่ในขณะเดียวกันพนักงานก็ต้องยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องการปรับลดขนาดองค์กร การปรับปรุงเส้นทางการบินให้เหมาะสม และแนวทางการบริหารอื่นๆ ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook