หลักฐานเด็ด เพื่อไทย ตีแผ่ พอเพียง ขึงพืด ปชป.-สพช.
หมายเหตุ - คณะกรรมการประสานงานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย นำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ที่ทำการพรรคเพื่อไทย อาคารบีบีดี บิวดิ้ง ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม
อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย
ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ จะมีการแถลงใหญ่โดยกลุ่ม ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย จะรวบรวมเอกสารทั้งหมดและเปิดเผยเป็นซีรีส์ครอบคลุมทุกประเด็นที่จะชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามสมรู้ร่วมคิดกันตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งความเสียหายที่รัฐได้รับมีไม่ต่ำว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการทั้งหมด
จากการที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ผลักดันให้ชุมชนในเขตบางกะปิ ขอโครงการระบุแบบฟอร์มที่สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ส่งมามีให้เลือกแค่ตู้น้ำกับเครื่องผลิตปุ๋ยนั้น แต่ภายหลังนายพงษ์ศักดิ์ วุฒิวัย ส.ข.บางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโต้แย้งในหนังสือพิมพ์ "มติชน" ในวันต่อมา ลักษณะว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำเช่นนั้น แต่พรรคเพื่อไทยมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่มีทั้งภาพและเสียงในการประชุมร่วมกันระหว่างประธานชุมชนในเขตบางกะปิ (บางส่วน) กับ พล.อ.ชัชวาล ทัตตานนท์ รองผู้อำนวยการ สพช. ที่สำนักงานชุมชนสามัคคีพัฒนา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 มีนายพงษ์ศักดิ์ วุฒิวัย ร่วมประชุมด้วย โดยนายพงษ์ศักดิ์กล่าวในที่ประชุมมีใจความตอนหนึ่งว่า
"ก็เห็นว่า เออ...น่าจะเป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนบางกะปิ เราพยายามหาเอกสารว่า เอ๊ะ...ไอ้โครงการชุมชนพอเพียงเนี่ยอะไรที่เข้ากับพวกเราบ้าง เราก็ได้ไปเจอเอกสารฉบับหนึ่งว่า เออ...พลังงานทดแทนน่าจะดีสำหรับในเขตบางกะปิ เราก็ไปนำเสนอให้กับ อ่า...พี่น้องประชาชน อ่า...ทางชุมชนในบางกะปิ นะฮะ เสร็จแล้วในชุมชนบางกะปิเนี่ยมี 27 ชุมชน ผมก็...ในเมื่อผมเป็นผู้แทนประชาชนเนี่ยนะ ก็สังกัดพรรคพรรคหนึ่ง...เพื่อความเป็นประโยชน์สุข ผมยื่นให้ทุกชุมชนที่จะเสนอขอ แล้วก็เสนอขอทำ 24 ชุมชน อีก 3 ชุมชนไม่เสนอขอ ผมก็นำเรื่องไปส่งให้กับสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียง"
(จากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ได้มอบก๊อบปี้ภาพและเสียงให้กับสื่อมวลชนที่นั่งฟังแถลงข่าว)
นี่คือเสียง หากเราได้ทราบระเบียบหรือลักษณะการดำเนินงานของโครงการนี้ ที่มีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนนั้นได้ตัดสินใจเองว่า พวกเขาที่อยู่ในชุมชนนั้น ต้องการหรือมีความประสงค์จะดำเนินโครงการใดๆ หรือแบบไหน แต่การที่มีบุคคลที่อาศัยความที่ตัวเองเป็นนักการเมืองไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับชาติ เข้าไปเจ้ากี้เข้าการ จัดโน่นจัดนี่ให้ ทั้งที่การตัดสินใจในการเลือกโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น เป็นสิทธิของประชาชนโดยตรง แม้จะมีผู้สังเกตการณ์หรือให้คำปรึกษาในโครงการนี้ ผลสุดท้ายการตัดสินใจทั้งหมดต้องเป็นของประชาชน ไม่ใช่ให้ใครมาชี้นำ
ประเด็นที่ 2 หลังจากการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องในการดำเนินโครงการนี้ ทางกลุ่ม กทม. เพื่อไทย ได้พบสิ่งผิดปกติในการอนุมัติงบประมาณในโครงการนี้ เราได้พบว่ามีการโอนเงินก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะโดยปกติแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการจ่ายเงินงบประมาณมาให้ก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติ จากเอกสารที่เราได้รับมานั้น เป็นเอกสารที่ นร.0118/205 ที่ส่งถึงประธานชุมชนสามัคคีพัฒนา เขตบางกะปิ โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า ทางชุมชนได้รับการอนุมัติโครงการนี้แล้วในวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ตามวันที่ที่ลงไว้ในหนังสือแจ้งมา
ซึ่งตามระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัตินั้น โครงการใดๆ ก็ตามที่ได้รับการอนุมัติ ก็จะได้เงินงบประมาณไปดำเนินโครงการ ซึ่งต้องเรียงตามลำดับง่ายๆ คือ หลังจากมีการอนุมติโครงการ งบฯจะถูกสั่งจ่ายลงมาสู่โครงการนั้นๆ แต่ในโครงการชุมชนพอเพียงนี้ กลับมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นมาแล้วกล่าวคือ มีการโอนเงินก่อนที่จะได้รับการอนุมัติโครงการ จากเอกสารที่เป็นภาพถ่ายสมุดบัญชีของชุมชนสามัคคีพัฒนา เลขที่บัญชี 01-0134-20-041408-8 ธนาคารออมสิน สาขาหัวหมาก โดยพบว่ามีการโอนเงินเข้ามา 500,000 บาท ซึ่งตรงกับงบฯที่ได้รับตามขนาดของชุมชน ซึ่งในสมุดคู่ฝากได้ระบุการโอนเงินเข้ามาในวันที่ 30 เมษายน 2552 ก่อนหน้าโครงการได้รับการอนุมัติ 4 วัน ต้องถามว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ในการทำโครงการนี้หรืออย่างไร และเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากประธานชุมชนสามัคคีพัฒนาว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจริง เราไม่ได้เอาสิ่งเลื่อนลอยมาพูดอย่างที่หลายคนพยายามจะชี้ให้เห็นอย่างนั้น
ในกรณีนี้ทำให้ทางกลุ่ม กทม. ตั้งขอสังเกตว่า การที่มีการโอนเงินหรือจ่ายเงินงบฯก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัตินั้น เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะขัดต่อระเบียบอย่างแน่นอน แม้จะอ้างว่าลงวันที่ผิด ก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะเอกสารการอนุมัติโครงการนั้นเดินทางมาถึงทีหลัง เรื่องนี้นายสุมิท แช่มชื่น ผอ.สพช. ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน หรือต้องสอบสวนการเบิกจ่ายงบฯในส่วนนี้ และยิ่งไปกว่านั้น หลังจากโอนเงินเข้าบัญชีจากทาง สพช.แล้วในวันเดียวกันนั้นเงินที่โอนเข้าก็ถูกถอนออกจากบัญชีในวันเดียวกันทั้งหมด โดยที่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของเงินไม่สามารถจับเงินแม้แต่น้อย
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นมาหลายชุมชน และบางแห่งมีการเข้าจัดการเรื่องเอกสาร ทั้งเปิดบัญชี ถอนเงิน โดยให้ทางกรรมการชุมชนเซ็นชื่ออย่างเดียว เรื่องนี้มีการร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ธนาคารบางคนด้วย จึงเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่า ทุกอย่างนั้นได้มีการจัดวาง หรือที่เรียกว่า "Set up" ไว้เป็นอย่างดี โดยเงินงบฯนี้ไม่ได้ผ่านมือของชาวบ้านเลย แค่เข้าบัญชีแล้วก็ออกไปเข้ากระเป๋าพ่อค้าบางคนทันที
ประเด็นที่ 3 เรื่องที่มีการออกมาแก้ตัวรายวันของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี "คุณชายละเอียด" ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าแก้ตัวเพื่อตัวเองหรือเพื่อใคร แต่วุฒิภาวะที่มีอยู่ไม่น่าสะท้อนภูมิปัญญาของนายกอร์ปศักดิ์ได้ โดยลักษณะที่ออกมาท้าทายให้ทางพรรคเพื่อไทยเปิดหลักฐานต่างๆ ออกมาหากว่ามีการทุจริตจริง จึงต้องขอเรียนว่า ท่านรองนายกฯจะได้รับทราบอย่างแน่นอน และต้องขอเตือนไว้ก่อนว่า หากได้เห็นหลักฐานต่างๆ ท่านจะมาเฉไฉหรือบ่ายเบี่ยงไม่ตรวจสอบหรืออ้างข้างๆ คูๆ ใดไม่ได้เลย เพราะเท่าที่เห็นนั้น บางอย่างท่านไม่ได้มีความรู้ หรือรู้ไม่จริงในหลายประเด็น เช่น ที่ท่านกล่าวว่าตู้น้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ราคาแพงเกินจริงอย่างมาก แต่ประหยัดพลังงานนั้น เรื่องนี้ต้องกล่าวว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะไม่ได้พูดถึงการคุ้มค่าในการลงทุนเลยแม้แต่น้อย
ผมจะอธิบายให้ฟังว่า เครื่องทำน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์นี้กินกำลังไฟฟ้าที่ 250 วัตต์ต่อ 1 ชั่วโมง เท่ากับกี่ยูนิต (1 ยูนิต = 1000 วัตต์) ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.50 บาท/ยูนิต ดังนั้น 250 วัตต์ ของเครื่องทำน้ำดื่มจะกินพลังงานไฟฟ้าเพียง 0.87 บาท/ชั่วโมง หากเปิดทั้งวันก็จะเสียค่าไฟฟ้าทั้งสิ้นวันละประมาณ 21 บาทเท่านั้น (0.87 x 24 = 20.88) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายถึง 300,000 บาทต่อเครื่อง จะพบว่าต้องใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 14,285 วัน หรือ 39 ปี จึงจะคุ้มค่า หรือแม้ว่าจะขายน้ำดื่มได้เท่าไร ก็คงไม่สามารถลดระยะเวลาคุ้มทุนกับตู้น้ำดื่มนี้ไปได้เท่าไร เพราะต้องจ่ายค่าน้ำให้การประปาอยู่ดี และระบบกรองน้ำระบบนี้ RO (reverse osmosis) จะทิ้งน้ำไปประมาณร้อยละ 30 ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
เหตุที่ต้องดูจุดคุ้มทุนนั้น ก็เพราะว่าเงินที่จ่ายอย่างแพงลิ่วให้กับตู้น้ำดื่มนี้ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความคุ้มค่า และสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์อย่างมาก การอ้างว่าเป็นการอนุรักษ์พลังงานนั้นก็ฟังไม่ขึ้นอีก เพราะว่าเท่าที่ทราบมานั้น แผงโซลาร์เซลล์ก็ใช้งานได้ไม่ดีหรือประสิทธิภาพไม่ถึง และที่สำคัญนั้น อายุของแผงโซลาร์เซลล์นั้นมีเพียงแค่ 5 ปี และหากคิดที่อัตราคุ้มทุนอยู่ที่ 38-39 ปีนั้น ก็ยิ่งไม่เห็นความจำเป็นในการใช้ระบบนี้เลย แม้ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงไปตลอด 39 ปี ก็จะเสียค่าไฟที่ประมาณ 14,235 บาทเท่านั้น ซึ่งจะคุ้มค่ากับตู้น้ำราคา 3 แสนบาทได้อย่างไร
จากประเด็นที่นายกอร์ปศักดิ์ได้ออกมาให้ข่าวในลักษณะที่ว่า การที่มีบางชุมชนเสนอโครงการโดยไม่ผ่านการทำเวทีประชาคม เป็นเพราะประชาชนไม่มีเวลา ต้องทำมาหากิน หรืออ้างว่าทางผู้เซ็นโครงการนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดที่ให้นายอำเภอเซ็นเสนอขึ้นมาแล้วทาง สพช.อ้างว่าไม่รู้หรือคงไม่รู้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้ เพราะการดำเนินการโครงการนั้น ได้ระบุออกมาเป็นระเบียบอย่างชัดเจน การกระทำที่ละเมิด หรือฝ่าฝืนระเบียบอย่างนี้ ถือว่าเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร
การทำประชาคมเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการดำเนินโครงการนี้ ดังนั้นการละเว้นหรือเซ็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเข้าข่ายความผิดในการปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการตามมาตรา 265 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในฐานความผิดนี้ มีหลายคนอาจจะต้องติดคุกด้วย เพราะว่าถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิด
ก่อนที่ประเทศจะเสียหายมากไปกว่านี้ ทางกลุ่ม กทม. เพื่อไทย จึงใครอยากให้รัฐบาลนี้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นก็เพียงพอต่อการสอบสวน อย่าลอยตัวหรือทำไม่สนใจ หรือออกมาร้องท้าหาหลักฐาน ซึ่งไม่ว่าอย่างไร หากมีการส่อไปในทางพิรุธ หรือส่อไปในทางมิชอบ ทางรัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการทันทีไม่ใช่มาร้องท้าให้เปิดหลักฐาน เหมือนเป็นการการันตีว่า การดำเนินการโครงการนี้ไม่มีการทุจริต
ในเร็วๆ นี้ เราจะดำเนินการแถลงข่าวเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขอบอกว่าจะเป็นการเปิดโปงขบวนการงาบงบฯพอเพียง จนให้เห็นไส้ในของผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ทั้งหมด วันนี้ทราบว่ามีเข้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าไปล็อบบี้ผู้นำชุมชนให้เกิดความกลัวไม่กล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ชุมชนอย่ากลัว เพราะหากนิ่งเฉยอาจตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดได้