ทางหลวงปรับแผน หันพึ่งเงินทุนเอกชน

ทางหลวงปรับแผน หันพึ่งเงินทุนเอกชน

ทางหลวงปรับแผน หันพึ่งเงินทุนเอกชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงระหว่างเมือง ปี"40-60 กำหนดการก่อสร้างทาง 13 สายทาง รวมระยะทาง 4,150 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างรวม 472,360 ล้านบาท

แต่จากปี"40 มาถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 11 ปี เพิ่งก่อสร้างได้เพียง 2 สายทาง ระยะทางรวม 146 กิโลเมตรเท่านั้น คือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี(สายใหม่) ระยะทาง 82 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ระยะทาง 64 กิโลเมตร

ทำให้กรมทางหลวง ต้องปรับแผนแม่การพัฒนาทางหลวงระหว่างเมือง เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและต้องใช้เงินลงทุนสูง

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ล่าสุดได้ปรับเหลือโครงการที่จะพัฒนาเพียง 5 สายทาง ระยะทาง 707 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 156,840 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะต้องสร้างภายในปี"60 ประกอบด้วย

1.โครงการบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 52,720 ล้านบาท

2.โครงการทางหลวงระหว่างเมืองบางใหญ่-นครปฐม-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 23,770 ล้านบาท

3.โครงการทางหลวงระหว่างเมืองชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 89 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 10,650 ล้านบาท

4.โครงการทางหลวงระหว่างเมืองนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ระยะทาง 118 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 37,300 ล้านบาท

5.โครงการทางหลวงระหว่างเมือง บางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 32,400 ล้านบาท

ทั้ง 5 สายทาง คาดว่าช่วงปี"53-54 จะสามารถดำเนินการได้ก่อน 2 โครงการคือ โครงการทางเลี่ยงเมืองบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ซึ่งมีแบบรายละเอียดโครงการหมดแล้ว และผ่านคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) แล้ว กำลังรอวิธีการลงทุนที่จะใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(พีพีพี) ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้กระทรวงการคลังตอบกลับมาว่าจะกำหนดรูปแบบของพีพีพีในรูปแบบไหน

อีกโครงการคือ โครงการทางหลวงระหว่างเมืองบางใหญ่-นครปฐม-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาไปทบทวนแผนว่าจะมีการพัฒนาบางส่วนจำเป็นก่อน คือ ช่วงบางใหญ่-นครปฐม ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตรก่อน เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ก่อน ซึ่งส่วนนี้จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท คาดว่าที่ปรึกษาจะส่งรายละเอียดกลับมาภายในกลางเดือนส.ค.นี้

สำหรับโครงการทางหลวงระหว่างเมืองบางใหญ่-นครปฐม-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี นั้น เดิมครม.ได้อนุมัติให้สัมปทานกับบริษัท เอกชนเป็นระยะเวลา 20-30 ปี เมื่อมีการประกาศเชิญชวนไปมีเอกชนเสนอตัว 1 ราย คือบริษัท ซีซีที จอยส์เวนเจอร์ ซึ่งมารับสัมปทานช่วงบ้านโป่ง-นครปฐม

ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงต้องหาผู้ดำเนินการใหม่ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการลงทุนในรูปแบบพีพีพี เหมือนโครงการอื่น ดังนั้นจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าครม.เพื่อขอให้ยกเลิกการสัมปทานก่อน แล้วจึงจะดำเนินการตามรูปแบบพีพีพีได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 โครงการ กรมทางหลวงอยากให้มีการลงทุนในรูปแบบพีพีพีทั้งหมด เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงน่าให้เอกชนลงทุนไปก่อน แล้วรัฐค่อยผ่อนใช้ให้ภายหลัง

ยกเว้นโครงการทางหลวงระหว่างเมืองชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด คาดว่ากรมทางหลวงน่าพัฒนาเอง เนื่องจากใช้งบลงทุนน้อยเพียงหมื่นกว่าล้านบาท โดยกรมทางหลวงจะใช้เงินจากกองทุนค่าผ่านทาง ที่มีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาทยอยใช้ลงทุนได้ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาทได้

ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดและกำลังศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาเสร็จภายในปี"53 และน่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี"54

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook