UNESCO ชี้ “การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” เป็นปัญหาการศึกษาช่วงโควิด-19
ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลแต่ละประเทศก็ประกาศใช้มาตรการยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงการปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ โรงเรียน ที่แม้จะถูกสั่งปิด แต่หน่วยงานการศึกษาของแต่ละประเทศก็มีความพยายามที่จะดำเนินการในส่วนของการเรียนการสอนต่อไป องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จึงทำการสำรวจระบบการศึกษาของ 61 ประเทศทั่วโลกที่เลือกใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบของการปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 โดยรัฐบาลแต่ละประเทศมีความพยายามที่จะดูแลนักเรียนและระบบการศึกษา ดังนี้
ใช้วิธีการศึกษาทางไกล
ระบบการศึกษาส่วนใหญ่เริ่มใช้แนวทางการศึกษาทางไกล แต่วิธีการและความกังวลก็แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มรายได้ของประชาชน การสำรวจพบว่า ร้อยละ 90 ของประเทศที่มีรายได้สูงสามารถใช้การเรียนออนไลน์ได้ ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำมีเพียงร้อยละ 53 ที่ใช้การเรียนการสอนรูปแบบนี้ ขณะที่ ความเสถียรของอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงน้อยยังประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่มีทักษะการใช้เทคโนโลยี
ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของนักเรียนช่วงโรงเรียนปิด
โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่ให้การศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พัฒนาทักษะด้านอารมณ์และการเข้าสังคมให้กับนักเรียน ดังนั้น ระบบการศึกษาร้อยละ 70 จึงได้ให้คำแนะนำสำหรับการดูแลแด็กขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้น กว่าร้อยละ 43 ของระบบการศึกษายังสร้างกลไกเพื่อตรวจสอบชีวิตความเป็นอยู่และการเรียนรู้ของนักเรียน ขณะที่ ร้อยละ 38 ของระบบการศึกษายังให้คำปรึกษาหรือการดูแลเรื่องสุขภาพจิต ทั้งนี้ ระบบการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ยังแนะนำให้นักเรียนติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
ดูแลช่วยเหลือครู
ครูคือกุญแจสำคัญของการดำเนินการศึกษาทางไกล กว่าร้อยละ 50 ของระบบการศึกษาที่ทำการสำรวจ มีการเตรียมพร้อมและฝึกฝนให้ครูสามารถทำการเรียนการสอนทางไกลได้ ในขณะที่ครูได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการสอน สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของครูกลับถูกละเลย โดยจากการสำรวจ มีเพียง 1 ใน 4 ของระบบการศึกษาทั้งหมดที่ให้การดูแลเรื่องสุขภาพจิตของครู
สร้างความมั่นใจเรื่องการสอบและการประเมินผล
การปิดโรงเรียน ส่งผลกระทบต่อปฏิทินการศึกษาอย่างมาก มาตรการที่ระบบการศึกษานำมาใช้จึงต้องครอบคลุมถึงเรื่องการสอบประเมินผลด้วย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงวันสอบที่มีเดิมพันสูง เช่น การสอบเข้าเรียนต่อ ขณะที่รัฐบาลบางประเทศประกาศให้มีการสอบและการประเมินผลออนไลน์แทน