เช็กด่วน! กทม.ขยายเวลาปิด 34 สถานที่เสี่ยงถึงสิ้นเดือน ที่ไหนผ่อนปรนเปิดได้บ้าง

เช็กด่วน! กทม.ขยายเวลาปิด 34 สถานที่เสี่ยงถึงสิ้นเดือน ที่ไหนผ่อนปรนเปิดได้บ้าง

เช็กด่วน! กทม.ขยายเวลาปิด 34 สถานที่เสี่ยงถึงสิ้นเดือน ที่ไหนผ่อนปรนเปิดได้บ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.20 น. ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงนามโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เรื่อง "สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 8" ดังนี้ 

ตามที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ 2563 และได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นั้น

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย และผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ตลอดจนด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพอันเป็นการช่วยป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด การจัดระบบตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครตามมติที่ประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 จึงให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวและกำหนดมาตรการป้องกันโรค ดังต่อไปนี้

1. ปิดสถานที่

1.1 โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)
1.2 สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
1.3 สวนน้ำ สวนสนุก
1.4 สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำและตลาดนัด
1.5 สวนสัตว์
1.6 สถานที่เล่นสเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
1.7 โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
1.8 สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือ ตู้เกม
1.9 ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต
1.10 สะว่ายน้ำสาธารณะ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
1.11 สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
1.12 สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส
1.13 สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม
1.14 พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน
1.5 ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชน และบ้านหนังสือ
1.16 สถานรับเลี้ยงเด็ก
1.17 สถานดูแลผู้สูงอายุ
1.18 สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย
1.19 โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)
1.20 สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
1.21 สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ
1.22 สนามม้า
1.23 สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
1.2 4 สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
1.25 ศูนย์พระเครื่องพระบูชา และสนามพระเครื่องพระบูชา
1.26 สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
1.27 สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า
1.28 สนามแข่งขันทุกประเภท
1.29 สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ
1.30 สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน
1.31 ห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร และที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น
1.32 ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม เปิดได้เฉพาะกิจกรรม สระ ตัด ซอย แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
1.33 สนามกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะกีฬาบางประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่างทางสังคมและไม่คลุกคลีกันอยู่แล้ว เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู และต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน สโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าว
1.34 สวนสาธารณะ ลาน พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อการเดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น เป็นส่วนบุคคล โดยไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน การละเล่น การแสดง

 

2.มาตรการป้องกันโรค

2.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำและตลาดนัดสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ และสถานที่หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 1.31 ข้อ 1.32 ข้อ 1.33 และข้อ 1.34 ซึ่งได้รับการผ่อนคลายตามข้อ 1 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

2.2 สถานที่อื่นนอกเหนือจากประกาศนี้ ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดและข้อ 11ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 2.1 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้งตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

โดยเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า วันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้มีมติให้เปิดบางสถานที่และบางกิจกรรม ที่ได้เคยมีประกาศสั่งปิดเป็นการชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ หลังจากที่พี่น้องประชาชนและทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดูแลป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด จนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในบ้านเราดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กลับเข้าสู่จุดวิกฤตอีกครั้ง จึงได้มีการกำหนดมาตรการและข้อแนะนำสำหรับสถานที่ต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการ ซึ่งท่านสามารถดูรายละเอียดเงื่อนไขได้ตามมาตรการที่กรุงเทพมหานครกำหนด

สรุปสถานที่ที่ให้เปิดได้ มีดังนี้ครับ

  • ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (เฉพาะที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/คอมมูนิตี้มอลล์) ส่วนนั่งทาน โดย
    (1) ต้องเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งของแต่ละคนไม่น้อยกว่า 1 เมตร กรณีระยะห่างระหว่างที่นั่ง 1 - 1.5 เมตร ต้องมีฉากกั้น ส่วนกรณีระยะห่างระหว่างที่นั่งมากกว่า 1.5 เมตร ไม่ต้องมีฉากกั้น
    (2) ห้ามไม่ให้มีการนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในร้าน
  • รถเข็น หาบเร่ แผงลอย
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ เฉพาะ
    (1) ซุปเปอร์มาร์เก็ต
    (2) ร้านขายยา
    (3) ร้านขายของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
    (4) ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม
    (5) ธนาคาร
    (6) ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
    (7) ร้านอาหาร เฉพาะซื้อไปทานที่อื่น
  • ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม
  • ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน
  • ตลาดสด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
  • ร้านเสริมสวย เฉพาะตัด สระ และไดร์
  • สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
  • สนามเทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน และยิงธนู
  • สวนสาธารณะ
  • ลานกีฬากลางแจ้ง เฉพาะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายเฉพาะส่วนบุคคล
  • ร้านอาบน้ำ ตัดขน สปา รับเลี้ยง และรับฝากสัตว์
  • โรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรม หรือสถานพยาบาลทุกประเภท ยกเว้นคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ เช็กด่วน! กทม.ขยายเวลาปิด 34 สถานที่เสี่ยงถึงสิ้นเดือน ที่ไหนผ่อนปรนเปิดได้บ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook