ทูตวศิน ชี้ไทยมีหลักฐานชัด เกาะกูดเป็นของไทย
"ทูตวศิน"ชี้ไทยมีหลักฐานชัดเกาะกูดเป็นของไทย หลังพธม.ระบุไทยอาจเสียดินแดนจากเอ็มโอยู ปี 2544
(3ส.ค.) นายวศิน ธีรเวชญาณ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ชี้แจงความเข้าใจถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จำนวน 26,000 ตร.กม. ในทะเลอ่าวไทย ว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้จนกว่า จะตกลงเรื่องเขตแดนกันได้ ส่วนความคืบหน้าการเจรจาเรื่องเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งหยุดไปตั้งแต่ปี 2549 โดยยอมรับว่า หลังทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ทางทะเล(เอ็มโอยู) ปี 2544 การประชุมดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเรื่องดินแดนเป็นเรื่องอ่อนไหว และยังไม่มีข้อสรุปที่พอใจทั้งสองฝ่าย
ส่วนกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า ไทยอาจต้องเสียเกาะกูด จากที่ได้ลงนามเอ็มโอยู ปี 2544 เนื่องจากแผนที่แนบท้ายบันทึกความเข้าใจที่กัมพูชาลากเส้นเข้ามาในพื้นที่บริเวณเกาะกูดนั้น นายวศิน ยืนยันว่า ฝ่ายไทยมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศได้ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พื้นที่เกาะกูดเป็นของไทยร้อยเอร์เซ็นต์ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเข้าใจหลักปฏิบัตินี้ ส่วนการลากเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่ปรากฎในบันทึกความเข้าใจ ฝ่ายไทยดำเนินการที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด
การลากเส้นแบ่งเขตทั้งไทยกับกัมพูชา ได้ใช้ตามแผนที่เดินเรือฉบับเดียวกัน ซึ่งเป็นแผนที่สากล เพียงแต่รากกันคนละเส้น ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องเขตแดนต้องทำอย่างระมัดระวังมากที่สุด อาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่อธิบายได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หากเกิดข้อพิพาทใดๆ ขึ้น ฝ่ายไทยสามารถดำเนินการตามที่เห็นว่าสมควร ตนขอยืนยันว่า ขณะนี้ ทั้งไทยกับกัมพูชาไม่มีฝ่ายใดเข้าไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันบริเวณพื้นที่ทับซ้อดังกล่าว นายวศิน กล่าวว่า ต้องขอข้อมูลกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่วนฝ่ายกัมพูชาให้สัมปทานพื้นที่กับบริษัทใดบ้างนั้น ตนไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากเป็นเรื่องของกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าผลการหารือระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ที่กัมพูชา ในต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นอย่างไร นายวศิน กล่าวว่า ตนไม่รับถึงผลการหารือครั้งนั้น โดยยืนยันว่า ขณะนี้การประชุมที่ตนรับผิดชอบอยู่ ไม่ได้รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่มีความเป็นห่วงว่า อาจมีการเจรจาตกลงอะไรก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าในเร็วๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเร่งยื่นกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เข้าสู่สภาให้พิจารณา เพื่อให้การเจรจาดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้
นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2552 จะจัดการประชุมกรรมาธิการร่วม ไทย - กัมพูชา (เจซี) ครั้งที่ 6 ที่โรงแรมเซ็นทราร่า ซึ่งมีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายฮอร์นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาเป็นประธานร่วม โดยจะมีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเมืองและความมั่นคง 2.สังคมวัฒนธรรม 3.เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจะเป็นประเด็นการประชุมครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ จะมีการลงนามข้อตกลงการโอนตัวนักโทษ อีกด้วย