COVID-19 ทำนักบำบัดเครียด-กังวลไม่แพ้ผู้ป่วย
ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นิวยอร์กซิตี้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความกลัว และความเศร้าโศก ทั้งจากโรคระบาดใหญ่และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาจากมาตรการล็อกดาวน์ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตดังกล่าว ส่งผลให้บุคลากรด้านสุขภาพจิตต้องรับบทหนักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
เมลิสซา เนเซิล นักจิตบำบัดจากแมนฮัตตัน กล่าวว่าเธอต้องเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจเช่นเดียวกับผู้ที่มาใช้บริการ เนื่องจากต้องรับฟังปัญหาของคนเหล่านี้ตลอดทั้งวัน และในขณะที่เธอพูดกับผู้ใช้บริการว่าเธอเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา เธอก็ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าเธอไม่เป็นอะไรเช่นกัน ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ใช่เสมอไป
จากการที่ต้องเผชิญกับความต้องการอันท่วมท้นของผู้ใช้บริการ เหล่าบุคลากรด้านสุขภาพจิตจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก กฎหมายฉุกเฉินที่ออกโดยสภาคองเกรสเมื่อต้นเดือนมีนาคมได้ขยายขอบเขตหน้าที่ของนักจิตวิทยาให้สามารถให้บริการทางไกลได้ ตามแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคม บางคนต้องรับปรึกษาทางไกลในรถที่จอดอยู่ แทนที่จะใช้พื้นที่ในบ้าน เพื่อรักษาความลับของผู้ใช้บริการ ส่วนคนอื่นๆ ก็มีประสบการณ์ร่วมกับผู้ใช้บริการของตนเอง เช่น นักจิตบำบัดที่ใช้เวลาช่วงแรกๆ ของการระบาดไปกับการจัดการความเศร้าโศกของผู้ใช้บริการ และพบว่าพ่อของเธอเองเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนก่อน
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนักบำบัดกับผู้ใช้บริการยังเปลี่ยนแปลงไป จากการพบหน้ากันตัวต่อตัว กลายเป็นการพูดคุยผ่านวีดิโอคอล ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงใหม่ นั่นคือการลดผลกระทบทางจิตใจของบุคลากรด้านสุขภาพจิต ที่ต้องเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดจากการทำงานและชีวิตส่วนตัว
หลังจากที่ต้องบำบัดผู้ใช้บริการแบบทางไกลเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์ ดร.ลูซี ฮัตเนอร์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตผู้หญิง กล่าวว่า ผลกระทบสะสมจากการที่เธอซึมซับความกังวลรูปแบบเดิมๆ ทำให้เธอต้องเข้านอนตั้งแต่ 1 ทุ่ม และนอนคลุมโปง ทั้งที่ในสถานการณ์ปกติ เธอจะสั่งตัวเองให้ “วิเคราะห์ประสบการณ์ทางอารมณ์ของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในตัวของคนอื่น”
“ฉันเคยชินกับความรู้สึกโกรธ เศร้า หรือมีความสุขของผู้ใช้บริการ แต่ครั้งนี้นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง มันเป็นทั้งความกลัว ความวิตกกังวล บาดแผลทางใจ และความเครียดที่ฉันได้ซึมซับมาจากทุกด้าน” ดร.ฮัตเนอร์กล่าว
ดอนนา เดเมทรี ไฟรด์แมน ผู้บริหารของ Mosaic Mental Health ในบร็องซ์ กล่าวว่า นักบำบัดหลายคนต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความต่อเนื่องของการดูแลผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการหลายคนไม่สามารถแม้แต่จะซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อกับนักบำบัด ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการหลายคนก็ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสีและลาติน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากอาการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสสูงถึง 62%
นอกจากนี้ หลังจากที่รัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทางศูนย์ก็ต้องทำงานนอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านจิตใจและการจ่ายยา โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ต้องทำหน้าที่ส่งอาหารให้แก่ผู้ใช้บริการด้วย
“เราทำทุกอย่างและทำอะไรก็ได้เพื่อช่วยเหลือกัน และทำให้ผู้ใช้บริการของเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป บางครั้งก็คือการร้องไห้ไปด้วยกัน” ดร.ไฟรด์แมนกล่าว
นักบำบัดหลายคนในนิวยอร์กซิตี้ต้องหันไปพึ่งเครือข่ายผู้ช่วย ทั้งเครือข่ายที่มีอยู่เดิมและที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว สมาคมนักจิตวิเคราะห์อเมริกัน (American Psychoanalytic Association) ได้ริเริ่มโปรแกรมให้คำปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในสถานการณ์ไวรัสโคโรนา โดยในวันแรกที่เปิดตัว มีสมาชิกสมัครเข้าโปรแกรมนี้มากกว่า 1,000 คน
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม ภาคีจิตวิเคราะห์อเมริกันในประเทศจีน (China American Psychoanalytic Alliance) ซึ่งทำหน้าที่ฝึกอบรมผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตชาวจีน ได้เริ่มฝึกนักบำบัดในเมืองอู่ฮั่นและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีน เกี่ยวกับการให้บริการคำปรึกษาทางไกล และหลังจากนั้น นักบำบัดชาวจีนก็ได้สอนให้นักจิตบำบัดชาวอเมริกันเรียนรู้จากประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดของพวกเขาเป็นการตอบแทน
นักบำบัดบางคนก็ต้องมีนักบำบัดของตัวเอง ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องทำสมาธิหรือเดินเล่นเพื่อผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการการบำบัดทุกคนจะมีความกังวลในเรื่องเดียวกัน แม้ว่าสิ่งที่กังวลนั้นจะเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็ตาม
นักบำบัดหลายคนกล่าวว่า ความกลัวและความไม่แน่นอนผลักให้ผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพจิต บางคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความรู้สึกผิดให้กับนักบำบัดมากขึ้น จากการที่ทำให้ผู้รับบริการต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องร้ายๆ ก็ยังมีสิ่งดีๆ นักบำบัดด้านความสัมพันธ์คนหนึ่งเล่าว่า คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันในพื้นที่ปิดจะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาร่วมกัน และทำการบำบัดเชิงลึกได้มากกว่า
ดร.ฮัตเนอร์กล่าวว่า ผู้รับบริการของเธอที่มีความพยายามก้าวข้ามปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นคนที่ช่วยเหลือเธอเช่นกัน
“พวกเขาเป็นผู้ที่ประสบกับภาวะที่โลกพลิกกลับหัวกลับหาง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นโลกภายนอก ในขณะที่ปกติจะเป็นเรื่องภายในตัวเรา เรื่องนี้ให้มุมมองในการทำความเข้าใจว่าคนเราสามารถก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้มากมายกว่าที่พวกเขาคิดว่าทำได้ และนั่นก็รวมถึงฉันด้วย” ดร.ฮัตเนอร์กล่าว
นักวิเคราะห์บางคนยึดถือข้อบัญญัติเรื่องการไม่เปิดเผยตัวตน หนึ่งในนั้นคือมาร์ก บอร์ก นักจิตวิเคราะห์ทางคลินิกในแมนฮัตตัน ที่ไม่เคยบอกผู้รับบริการว่าเขาเองก็ติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่เมื่ออาการเขาแย่ลง ผู้รับบริการก็จับได้ และบทบาทของทั้งสองก็สลับกัน โดยผู้รับบริการเป็นผู้ที่คอยดูแลเขาแทน
“พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะทำให้ผมดีขึ้น เพื่อให้ผมสามารถเป็นผู้ดูแลพวกเขาอย่างที่เคยเป็น” ดร.บอร์กกล่าว