นักวิจัยคาด “โควิด-19” จะอยู่กับเราไปอีก 2 ปี

นักวิจัยคาด “โควิด-19” จะอยู่กับเราไปอีก 2 ปี

นักวิจัยคาด “โควิด-19” จะอยู่กับเราไปอีก 2 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและนโยบายด้านโรคติดเชื้อ (Center for Infectious Disease Research and Policy หรือ CIDRAP) คาดการณ์ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปอีก 18 – 24 เดือน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีมากถึง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ โดยทีมนักวิจัยแนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมไปถึงคลื่นการระบาดลูกที่ 2 ของเชื้อไวรัสโคโรนา ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

“เชื้อไวรัสนี้จะไม่หยุดแพร่กระจายจนกว่าจะมีคนติดเชื้อกว่า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์” Mike Osterholm ผู้อำนวยการศูนย์ CIDRAP มหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าว

นักวิจัยใช้รายงานและข้อมูลการระบาดของโรคติดต่อที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า พร้อมกับรายงานทางการแพทย์ของโรคโควิด-19 ในการวิเคราะห์ข้อมูล และอธิบายว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และมนุษย์ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้ นักวิจัยจึงวิเคราะห์ว่า ระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคจึงจะใช้เวลาประมาณ 18 – 24 เดือน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันหมู่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นในหมู่มนุษย์ นอกจากนี้ โรคโควิด-19 จะไม่หายไปในช่วงฤดูร้อนเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำว่า แทนที่รัฐบาลจะบอกประชาชนว่าโรคโควิด-19 จะหายไป รัฐบาลควรเตรียมพร้อมรับมือกับโรคดังกล่าวที่จะอยู่ไปอีกนาน พร้อมระบุรูปแบบการระบาด 3 รูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  1. คลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ลูกที่ 1 ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2020 จะตามมาด้วยคลื่นการระบาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดฤดูร้อน ซึ่งกินเวลาประมาณ 1-2 ปี แล้วจะค่อย ๆ ลดน้อยลงในช่วงปี 2021
  2. คลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ลูกที่ 1 ตามมาด้วยคลื่นการระบาดที่ใหญ่กว่าเดิมในช่วงฤดูหนาว หรือคลื่นการระบาดขนาดเล็กในปี 2021 “รูปแบบนี้จะต้องกลับมาใช้มาตรการที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้พังทลาย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1918 - 1919”
  3. การติดเชื้อจะมีรูปแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ซึ่งรูปแบบที่ 3 อาจไม่จำเป็นต้องการนำมาตรการควบคุมโรคกลับมาใช้ แต่จะมีผู้เสียชีวิตอยู่เรื่อย ๆ

ดังนั้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในรูปแบบที่ 2 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่มีความเลวร้ายมากที่สุด โดยทีมนักวิจัยระบุว่า หน่วยงานของภาครัฐควรจัดเตรียมแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเกิดการระบาดอีกครั้ง ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังแสดงความคิดเห็น ว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจมากที่หลาย ๆ รัฐในสหรัฐฯ เลือกที่จะผ่อนปรนมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แม้ว่าวัคซีนจะสามารถช่วยได้ แต่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยนักวิจัยชี้ว่า วัคซีนจะสามารถใช้ได้เร็วที่สุดในปี 2021

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook