สธ.แจง เหตุผลแล็บโควิด-19 จ.ยะลา ผิดพลาด ผลตรวจซ้ำจากส่วนกลาง รู้ผลพรุ่งนี้

สธ.แจง เหตุผลแล็บโควิด-19 จ.ยะลา ผิดพลาด ผลตรวจซ้ำจากส่วนกลาง รู้ผลพรุ่งนี้

สธ.แจง เหตุผลแล็บโควิด-19 จ.ยะลา ผิดพลาด ผลตรวจซ้ำจากส่วนกลาง รู้ผลพรุ่งนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (5 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผลการตรวจโควิด-19 ที่ จ.ยะลา 40 ราย จากห้องปฏิบัติการ ที่ต้องมีการตรวจซ้ำ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีห้องแล็บตรวจโควิด-19 ได้ 2 แห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่หลังจากโรคเกิดการระบาดใหญ่ การแพร่ระบาดขยายวงกว้างมากขึ้น จึงต้องการตรวจแล็บให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ตอนนี้มีห้องแล็บมาตรฐานมากกว่า 150 แห่ง ทั้งภาครัฐ เอกชน การตรวจแล็บที่ได้มาตรฐานคือ ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่วิธีนี้มีจุดอ่อน คือ ขั้นตอนที่ซับซ้อน ผู้ตรวจต้องมีความรู้ความเข้าใจ เครื่องมือมีราคาแพง และต้องมีระบบความปลอดภัยทางชีวนิรภัย ช่วงแรกของการระบาด จำเป็นต้องยืนยันผล 2 แล็บตรงกัน จึงจะยืนยันติดเชื้อได้

สำหรับแล็บที่จะตรวจหาเชื้อได้ จะต้องมีปัจจัยสำคัญต่อไปนี้ 

1. นักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจการตรวจ RT-PCR
2. มีเครื่องตรวจ RT-PCR และระบบชีวนิรภัย
3. ผู้ตรวจผ่านการทดสอบความชำนาญ จากกรมการแพทย์ ทดสอบได้ถูกต้องแม่นยำ 100%
4. ต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน
5. รายงานข้อมูลตามกรมควบคุมโรคกำหนด

รายงานล่าสุดพบว่า ทั้ง 150 ห้องแล็บ ตรวจตัวอย่างไปแล้ว 227,860 ตัวอย่าง 

โดยห้องแล็บที่ จ.ยะลา ก็ทำได้ตามมาตรฐาน ผ่านเกณฑ์ของกรมฯ ตรวจให้บริการไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่าง ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้แการตรวจ RT-PCR ในห้องแล็บ จะมีตัวควบคุมมาตรฐานหรือตัวเปรียบเทียบ 2 ตัวคู่กันเสมอ คือ 

1.Positive Control คือ ตัวทดสอบนั้นเวลาตรวจต้องได้ผลบวกเสมอ เพราะเอาตัวอย่างที่มีเชื้อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ 

2.Negative Control ส่วนใหญ่จะใช้น้ำเปล่า เพราะตรวจอย่างไรก็ไม่มีเชื้อ 

กรณีที่ จ.ยะลา ตรวจแล้วพบมีปัญหา คือ ตัว Negative Control หรือตัวน้ำเปล่า เมื่อตรวจปรากฏว่าเจอเชื้อ แสดงว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องหยุดตรวจและรายงานผู้เกี่ยวข้อง คือ จังหวัดรับทราบ และหาสาเหตุต่อไป

“ความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยความผิดพลาดอาจเกิดได้ 3 อย่าง คือ 1.จากมนุษย์
2.เครื่องมือ และ 3.ระบบ ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งห้องแล็บยะลาก็ตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปกติขึ้น ดังนั้น สิ่งที่แล็บยะลาทำถือเป็นมาตรฐาน เป็นขั้นตอนปกติที่ทำ มาตรฐานห้องปฏิบัติการไม่ได้แปลว่าตรวจ 100 ครั้งถูก 100 ครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตรวจถูกต้อง 100% แต่การถูกต้องต้องให้แม่นยำมากที่สุด และสำคัญคือตรวจแล้วรู้ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบตรวจจับได้ และแก้ไขตามมาตรฐานที่กำหนด” นพ.โอภาสกล่าว

แม้แต่แล็บมาตรฐานอย่างจุฬาฯ และกรมวิทย์ หลายครั้งก็มีผลตรวจไม่ตรงกัน ต้องเอาตัวอย่างมาตรวจซ้ำ หรือหาแล็บอื่นช่วยตรวจยืนยัน ก็จะทำให้สรุปได้ว่าตัวอย่างนั้นพบเชื้อหรือไม่ การแปลผลแล็บก็ต้องดูวัตถุประสงค์เป็นหลัก เช่น เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วย หรือเฝ้าระวังเชิงรุก ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการอยู่ในชุมชน 

ต้องคำนึงถึงธรรมชาติการเกิดโรค และสถานการณ์การระบาด เช่น การเฝ้าระวังเชิงรุก จ.ยะลา ปกติการตรวจจะมีโอกาสเจอผู้ป่วยไม่เกิน 5% เมื่อพบความผิดปกติก็ต้องตรวจสอบ ตรวจทานกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกรมวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ลงไปสนับสนุนเพื่อช่วยห้องแล็บยะลาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดผิดปกติตรงไหน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคตอีก

“เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อน ก็ต้องนำตัวอย่างมาส่งตรวจแล็บที่ 2 ที่ใกล้ที่สุดคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา ซึ่งออกมาเป็นลบ เกิดความขัดแย้งกัน แนวปฏิบัติคือมีการตรวจซ้ำ ซึ่งได้นำมาส่งที่แล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ระหว่างนำส่งที่ส่วนกลางอยู่ คาดว่าผลออกไม่เกินวันที่ 6 พ.ค. คงนำเรียนให้ทราบ ส่วนความคลาดเคลื่อนไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ และไม่มีปัญหาต่อการควบคุมโรค เพราะถ้าตัวอย่างสงสัยจะเป็นบวก ก็ลงไปควบคุมโรคได้เลย เพราะหากเกิดเป็นผลบวกจริงแล้วมาควบคุมโรคจะช้าเกินไป แต่การตรวจแล็บทวนซ้ำก็คงต้องรีบดำเนินการ ซึ่งการตรวจใหม่ใช้ทั้งตัวอย่างเดิมมาตรวจซ้ำ และเก็บตัวอย่างใหม่” นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนกรณีของคนใกล้ชิดของกลุ่ม 40 คนนี้ ใน จ.ยะลา  นพ.โอภาส ระบุว่า ยังไม่พิสูจน์ว่า 40 คนนี้เป็นผู้ป่วยหรือไม่ ยังไม่จำเป็นต้องตรวจคนใกล้ชิด แต่ต้องเฝ้าระวัง ไปไหนมาไหนอิสระไม่ได้ เมื่อ 40 คนนี้เป็นบวก คนสัมผัสใกล้ชิดต้องตรวจ แต่การตรวจเชิงรุก คือ ลงไปในพื้นที่ และซักประวัติดูว่าใครจำเป็นต้องตรวจไหม เชื่อว่าคนใกล้ชิดส่วนหนึ่งก็ได้รับการตรวจไปแล้ว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook