กรมอนามัย เตือน สังเกต 6 สัญญาณอันตราย ที่มากับอากาศร้อนจัด

กรมอนามัย เตือน สังเกต 6 สัญญาณอันตราย ที่มากับอากาศร้อนจัด

กรมอนามัย เตือน สังเกต 6 สัญญาณอันตราย ที่มากับอากาศร้อนจัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดและอุณหภูมิที่สูงในช่วงฤดูร้อนอาจเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง หากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิด 6 อาการ ได้แก่

  1. ผื่นผิวหนัง เกิดจากร่างกายระบายความร้อนโดยการขับเหงื่อมากจนรูขุมขนอักเสบ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนมและขาหนีบ แนะนำให้อาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและทายาบริเวณที่เป็นผื่น
  2. บวมที่ข้อเท้า เกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ควรพักผ่อนและนอนยกขาสูง
  3. ตะคริว เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลัน พบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อมาก แนะให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว นวดกล้ามเนื้อเบาๆ 1 - 2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อและดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ ชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
  4. เป็นลม เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศ ให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าสูงกว่าลำตัว พัดโบกลมให้ถูกหน้า ลำตัว เพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้ไปพบแพทย์
  5. เพลียแดด เกิดจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่จำนวนมาก อาการคือ มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และกระหายน้ำอย่างมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็ง ไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ หากผู้ป่วยยังมีอุณหภูมิร่างกายสูงให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
  6. โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก เป็นโรคที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติจนไปทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายและระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิวหนังแดง ร้อน เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยคือ พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook