อ.จุฬาฯกว่า1500 คนค้านฎีกาอภัยโทษ แม้ว!! ชี้อันตราย กดดัน-กระทบศรัทธาสถาบัน
คณาจารย์จารย์ จุฬาฯ ทำจดหมายเปิดผนึก ซัดการโฆษณาให้ประชาชนลงชื่อถวายฎีกาขออภัยโทษ"ทักษิณ" ฝ่าฝืนประเพณี-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเป้าหมายทางการเมือง กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เรียกร้องรัฐบาล-ราชเลขาธิการกลั่นกรองให้ดี
ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ว่า คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับร้อยคนได้ทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนให้ประชาชนลงชื่อทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยเห็นว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนยังเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องในการถวายฎีกา
ทั้งนี้การถวายฎีกาครั้งนี้มีเป้าหมายในทางการเมืองเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆโดยเฉพาะให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยถวายต่อพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยการขอให้กลุ่มผู้นำการเมืองซึ่งสนับสนุนตน ที่ดำเนินการโฆษณาล่ารายชื่ออยู่นี้หยุดยั้งกระทำการผิดกฎหมาย ประเพณีและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการฎีกาเสีย
นอกจากนั้นยัง ขอให้ประชาชน ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่มิได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องของกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายฎีกา
ขณะเดียวกัน ขอให้สภามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่เป็นผู้นำความคิด และปัญญาในสังคม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน นักธุรกิจ ประชาชนพิจารณาดำเนินการให้จดหมายเปิดผนึกนี้ไปสู่การพิจารณาของรัฐบาล ราชเลขาธิการ และประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้การเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ และความเหมาะสมดีงามตามที่ถูกที่ควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนกระทั่งเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีคณาจารย์จุฬาฯลงชื่อแล้วกว่า 300 คนและบุคคลากรรวมกว่า 1,500 คน และคาดว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งมีการประชุมคณบดีจะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวให้คณบดีที่เห็นด้วยลงนาม
สำหรับจดหมายเปิดผนึกเรื่อง ฎีกาตามกฎหมายและประเพณี และฎีกาการเมือง : อันตรายและผลกระทบ มีรายละเอียดดังนี้
บรรดาคณาจารย์ นักวิชาการและบุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ได้ติดตามศึกษากระแสที่มีโฆษณาชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไป ร่วมกันเข้าชื่อทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาเพื่อ "ทรงพระกรุณาอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ๒ ปี นั้นเสีย เพื่อจักได้อิสรภาพกลับมาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาททำประโยชน์ต่อแผ่นดิน"
โดยให้เหตุผลว่า "เวลานี้เหลือที่พึ่งสุดท้ายหนึ่งเดียวที่ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งได้คือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพราะ....... มีสายพระเนตรยาวไกล คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป"
บุคคลที่มีรายนามข้างท้ายนี้ ได้ศึกษาประเพณีถวายฎีกา และได้ศึกษารัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติโดยถี่ถ้วนแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่าในการถวายฎีกาในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนยังเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องในการถวายฎีกา ดังนี้
๑. การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันมีสองประเภท คือฎีกาขอพระราชอภัยโทษของนักโทษในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วประการหนึ่ง และฎีกาของพระราชทานความเป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ อีกหลายประการหนึ่ง
๑.๑ ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๕๙-๒๖๗ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรค ๒ ที่ว่า " คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้วคู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่" ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ และยังอนุโลมใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ข้อ ๑ (๑) ที่ว่า "ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใด ๆ ตั้งแต่ ศาลฎีกาลงไปได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้น ๆ)"
นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้วางหลักการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ทั้งผู้มีสิทธิทูลเกล้า ฯ ถวาย สถานที่ที่จะยื่น ขั้นตอนการถวายฎีกาและการกราบบังคมทูลถวายความเห็นของรัฐบาล กล่าวคือ
ผู้มีสิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต้องเป็น ผู้ต้องคำพิพากษาเอง (ตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องอันได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ญาติพี่น้อง (มาตรา ๒๕๙) หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (มาตรา ๒๖๑ วรรคสอง)
สถานที่ที่จะยื่นฎีกาคือเรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น "ถือเป็นการยื่นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย" หากไปยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ หน่วยงานนั้นก็ต้องส่งเรื่องย้อนไปมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำความเห็นกราบบังคมทูลขึ้นไปก่อนอยู่นั้นเอง
๑.๒ ฎีการ้องทุกข์หรือขอพระราชทานความเป็นธรรม
ประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อนก็สามารถทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระมหากรุณาให้ทรงช่วยเหลือหรือทรงแก้ไขความทุกข์ให้ เช่น ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ขอพระราชทานแหล่งน้ำ หรือส่วนราชการกระทำการอันไม่เป็นธรรม ฎีกาประเภทนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑(๒) กำหนดว่าต้องเป็นการ
" ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจการส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง" กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาประเภทนี้ ต้องขอโดยผู้มีทุกข์และขอในกิจการส่วนตัวของผู้นั้นเอง เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องสัมภาษณ์หารือ ติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม มิใช่ว่าถวายแล้วก็อยู่นิ่งเฉยปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่แต่ฝ่ายเดียว ฎีการ้องทุกข์ประเภทนี้จะทูลเกล้า ฯ ผ่านทางใดก็ได้
๑.๓ ขั้นตอนการพิจารณาการฎีกา
หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องสรุปข้อเท็จจริง นำเสนอตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วรัฐมนตรีก็จะทำความเห็น ส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะสรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายลงนามทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็น แล้วเรื่องไปสำนักราชเลขาธิการ เพื่อเสนอคณะองคมนตรีกลั่นกรองและทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นต่อไป ขั้นตอนต่อจากนี้ก็สุดแท้แต่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พระราชทานอภัยโทษ หรือ ลดโทษ หรือยกฎีกา
อนึ่ง หากมีการยื่นผิดขั้นตอนไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการก็ไม่อาจพิจารณาเรื่องได้ ต้องส่งเรื่องกลับไปที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง
สำหรับฎีการ้องทุกข์นั้น ไม่ว่าจะทูลเกล้า ฯ ถวายโดยทางใด สำนักราชเลขาธิการก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกร้องฎีกานั้นชี้แจง รวมทั้งสอบถามไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำสรุปข้อเท็จจริงเสนอสำนักราชเลขาธิการ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องถามความเห็นให้ครบถ้วนแล้วสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ และทำวามเห็นเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย
ฎีการ้องทุกข์นี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามประเพณีและคำพิพากษาศาลฎีกา เคยวินิจฉัยว่า "....ราชเลขาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมมีหน้าที่ต้องคอยกลั่นกรองเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบตามที่เห็นสมควรให้เหมาะสมกับกาลเทศะและราชประเพณี ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ มิใช่ว่าเมื่อมีการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาในเรื่องใดก็จะต้องรีบนำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบทันที โดยไม่ต้องสอบสวนเรื่องราวให้ได้ความถ่องแท้เสียก่อน" (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๘/๒๕๒๘) อำนาจนี้รวมถึงการที่ราชเลขาธิการอาจงดไม่นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายได้ โดยเฉพาะฎีกาขอพระมหากรุณาบางเรื่อง ( เช่น ของานทำ) หรือฎีกาที่ใจความหรือสาเหตุที่อ้างคลุมเครือไม่มีมูล
ดังนั้น การทีมีผู้อ้างเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ครั้งนี้จะ "ข้ามหัวองคมนตรี" จึงเป็นการละลาบละล้วง จ้วงจาบเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว โดยไม่มีนำพาต่อระเบียบประเพณีและรัฐธรรมนูญที่ว่าคณะองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์
๑.๔ พระราชอำนาจในการทรงพิจารณาฎีกา
แม้การพระราชทานอภัยโทษในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๑ จะบัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" ก็อยู่ภายใต้หลักการที่ว่าในการที่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทุกชนิดที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น พระราชทานอภัยโทษก็ดี หรือแก้ไขทุกข์ของราษฎรที่ต้องให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติก็ดี พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมือง
ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๕ กำหนดว่า "บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น ต้องมีรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้"
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจึงต้องเป็น ผู้กลั่นกรองเรื่องฎีกาทุกชนิดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ว่า จะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือฎีการ้องทุกข์ รวมทั้งกราบบังคมทูล ถวายคำแนะนำ และรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกเว้นฎีกาที่ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน หากมีพระมหากรุณาพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์ ย่อมเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์โดยแท้ที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง
๒. หากพิจารณากระบวนการโฆษณาให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อถวายฎีกา พิจารณาเนื้อความฎีกา และจุดประสงค์ ร่วมกันทั้งหมดแล้ว วิญญูชนย่อมทราบดีว่า ฎีกาที่กำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ได้นับล้านนี้ ไม่ใช่ทั้งฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาทางการเมืองที่หวังผลทางการเมืองโดยชัดแจ้ง โดยอาศัยกระแสมวลชนตามที่ชินกับการดำเนินการในทางการเมืองอื่นมาผลักดัน หรือกดดันผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยไม่สมควร
๒.๑ ฎีกานี้ไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ถูกต้อง ด้วยเหตุผล ดังนี้
๒.๑.๑ หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต้องยื่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองหรือ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติพี่น้อง แต่ขบวนการนี้ไม่ได้มีฐานะใดฐานะหนึ่งดังกล่าว นอกจากนั้น การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื้อความในฎีกาฉบับนี้ในข้อ ๒ กลับมีว่า "....ใช้กฎหมายที่ไม่ต้องด้วยหลักนิติธรรมดำเนินคดี..."
ในข้อ ๓ ที่ว่า "การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙..... ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จนนักกฎหมายผู้เคารพต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจากปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบันนี้ ประเทศเรามีปัญหาด้านนิติรัฐและนิติธรรม เป็นที่น่าอับอายแก่นานาอารยประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าและชาวบ้านทั่วไปต่างรู้ซาบซึ้งดีว่าการใช้กฎหมายสองมาตรฐานกับคนสองพวก การไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาคเป็นวิธีการที่อนารยะ เป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้........" ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และตนเองไม่มีความผิดใดๆ
แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการโต้แย้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง
๒.๑.๒ ฎีกานี้ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ปกติของราษฎรอีก เพราะการร้องทุกข์นั้น ต้องร้องตามพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑ (๒) ที่ว่าต้อง "ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง ไม่ใช่ด้วยการชักชวนให้ประชาชนมาเข้าชื่อร้องทุกข์เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ไม่มีเหตุขัดข้องใด ๆ ที่จะยื่นถวายฎีกาเองไม่ได้ อันจะเข้าลักษณะที่ว่า เจ้าตัวยังมิได้เดือนร้อนใด ๆ แต่มีผู้อื่นเดือนร้อนยิ่งกว่า
ดังนั้น หากจะร้องทุกข์ให้ชอบด้วยประเพณีและกฎหมายบ้านเมืองแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสูงสุดมาก่อน ก็ชอบที่จะเคารพแบบแผนประเพณี และกฎหมาย ด้วยการถวายฎีการ้องทุกข์ด้วยตนเอง แม้ทางไปรษณีย์ก็ย่อมทำได้
๒.๑.๓ ฎีกานี้จึงเป็นฎีกาการเมือง โดยกระบวนการทำ โดยเป้าหมาย เนื้อหา และผลกระทบ มีดังนี้
ก. การโฆษณารวบรวมรายชื่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ลงชื่อในฎีกาได้นับล้านคน เป็นกระบวนการสร้างกระแสกดดันพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งยังหวังผลในการวัดความนิยมทางการเมืองต่อตัวอดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่สนับสนุน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดุจนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องต่อรอง
อนึ่ง การรวบรวมรายชื่อคนจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาอาจมี แล้วในอดีต แต่ก็นับว่าเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรอ้างการกระทำดังกล่าวเป็นแบบอย่างการกระทำในครั้งนี้
ข. เป้าหมายของฎีกานี้มีขึ้นเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ หากมีพระบรมราชวินิจฉัยยกฎีกา หรือไม่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประการใด ผู้เป็นแกนนำก็คงทราบดีว่า จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากที่เข้าชื่อ อันเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนพรรค หากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับคณะก็จะได้ประโยชน์ทางกฎหมายและทางการเมืองอีก
ค. เนื้อความในฎีกามีความไม่เหมาะสมหลายประการ อาทิ "ระบอบเผด็จการทหารที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ การกล่าวตู่พระบรมราชวินิจฉัยว่า "คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป" อันแสดงในตัวว่าหากทรงยกฎีกาหรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยก็เป็นการปล่อยให้ประชาชนระทมทุกข์ ถ้าจะให้ประชาชนพ้นทุกข์ก็ มีวิถีทางเดียวคือต้องทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ อันเสมือนเป็นการเดิมพัน ไม่ปล่อยให้การเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอันกอรปด้วยธรรมอยู่แล้ว
ง. เคยปรากฏข้อความวีดีโอลิงค์ในหลายเวทีรวมทั้งในวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 มาแล้วว่า "หากได้รับพระเมตตา ก็จะกลับมารับใช้ประเทศชาติ" การกระทำดังกล่าวของแกนนำหลายจึงน่าวิตกว่าจะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา ดังนี้
(๑) ฎีกานี้สร้างแบบอย่างผิด ๆ ทางการเมืองว่า ถ้าหวังผลสำเร็จ ต้องรวบรวมรายชื่อจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาให้ได้ ยิ่งมากยิ่งดี
(๒) ฎีกานี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง และไม่อาจมีพระบรมราชวินิจฉัยทางการเมืองได้ ให้ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งยังนำประชาชนจำนวนมากให้เข้ามาสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่าย ที่สำคัญคือการใช้จำนวนคนมาเป็นปัจจัยประกอบพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่บังควร
เพราะหากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะ ก็อาจทำให้ผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะไม่พอใจ หากวินิจฉัยให้เป็นโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาและผู้สนับสนุนไม่พอใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยทางใด ผลกระทบทางการเมืองจะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกทาง ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ด้วยเหตุดังได้ศึกษาและวิเคราะห์โดยถี่ถ้วนคณาจารย์ นักวิชาการและบุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องบุคคลและองค์กรต่างๆดังนี้
(๑) ขอให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยถวายต่อพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยการขอให้กลุ่มผู้นำการเมืองซึ่งสนับสนุนตน ที่ดำเนินการโฆษณาล่ารายชื่ออยู่นี้หยุดยั้งกระทำการผิดกฎหมาย ประเพณีและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการฎีกาเสีย และหากจะขอพระราชทานพระมหากรุณาด้วยตนเอง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็มีสิทธิโดยชอบที่จะกระทำการเช่นนั้นด้วยตนเอง
(๒) ขอให้ผู้นำการเมือง ยุติการกระทำที่มิได้เป็นไปตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง และยุติการกระพือความขัดแย้งแบ่งฝ่ายที่กำลังทำอยู่โดยพลัน
(๓) ขอให้ประชาชน ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่มิได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องของกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายฎีกา การมีความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช้เรื่องผิดแต่ประการใดแต่จะนำความนิยมนั้นมาเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องไม่ได้
(๔) ขอให้สภามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่เป็นผู้นำความคิด และปัญญาในสังคม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน นักธุรกิจ ประชาชนพิจารณาดำเนินการให้จดหมายเปิดผนึกนี้ไปสู่การพิจารณาของรัฐบาล ราชเลขาธิการ และประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้การเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ และความเหมาะสมดีงามตามที่ถูกที่ควร
(๕) ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการกลั่นกรองเรื่องฎีกาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินนี้ให้รอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา และแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความกล้าหาญ โดยการไม่นำฎีกาการเมือง ที่ไม่ใช่ทั้งฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ หรือขอพระราชทานความเป็นธรรมขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ให้เป็นที่ลำบากพระทัย และเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามไปกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(๖) ขอเรียกร้องให้สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งมีอำนาจในการกลั่นกรองเรื่องฎีกาขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ใช้อำนาจตามกฎหมายและประเพณีที่มีอยู่ พิจารณาฎีกาดังกล่าวให้รอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ