หมอทวีศิลป์แย้มอีก 10 วัน มีลุ้นเปิดห้าง-ศูนย์การค้า-ค้าปลีก ถ้าสถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
วันนี้ (7 พ.ค.) หลังจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (โฆษก ศบค.) แถลงข่าวประจำวันเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น
ต่อจากนั้นมีการเปิดเผยถึงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการระยะที่ 2 ไว้คือ
8-12 พ.ค. จะเป็นระยะเวลาของการรับฟังความคิดเห็น
13 พ.ค. จะเป็นช่วงการซักซ้อมทำความเข้าใจ
14 พ.ค. จะเป็นการยกร่างข้อกำหนดการผ่อนปรนระยะที่ 2 และ
17 พ.ค. จะเป็นวันเริ่มต้นมาตรการระยะที่ 2
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากประชาชนทำดี สามารถร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น อีก 10 วันข้างหน้าจะเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
สอดคล้องกับที่มีการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานภาคเอกชนที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบุว่า ธุรกิจภาคเอกชนได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดธุรกิจ เน้นวิธีการทำงาน ทั้งเรื่องการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งของผู้เข้ามาใช้บริการและพนักงาน รวมถึงสถานที่ และอุปกรณ์เครื่องดื่ม เช่น การจัดพื้นที่เว้นระยะห่าง ภายในอาคารเน้นอากาศถ่ายเท ควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการในเวลาเดียวกัน อุปกรณ์ต้องมีการเปลี่ยนตลอด มีระบบการตรวจวัด หากเป็นไปได้รวมถึงแอปพลิเคชันป้องกันต่างๆ เป็นต้น โดยภาคธุรกิจยืนยันว่าได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่ารัฐจะปลดล็อกล็อต 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้
นายกลินท์ กล่าวว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ตามกรอบเดิมกำหนดให้มีการปลดล็อกให้ธุรกิจเปิดเพิ่มทุก 14 วัน ซึ่งล็อตแรกเปิดไปเมื่อ 3 พฤษภาคม และเห็นว่าสถานการณ์น่าพอใจ ทั้งผู้ให้บริการและผู้เข้าใช้บริการต่างระมัดระวังเรื่องการป้องกัน คาดว่าธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งน่าจะได้รับความเห็นชอบกลับมาเปิดประมาณวันที่ 17 พฤษภาคม ล็อตนี้จะเป็นกลุ่มค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าภายในศูนย์การค้า เชื่อว่าครั้งนี้ธุรกิจจะถูกปลดล็อกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ศบค. ซึ่งตนเชื่อว่าครั้งนี้น่าจะปลดล็อกธุรกิจได้หลากหลายประเภทมากขึ้น