งานวิจัยเผย “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” กระจายเร็วทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วย COVID-19 กว่า 7,500 คน แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลก หลังจากที่เกิดการระบาดในประเทศจีนช่วงเดือนตุลาคมและธันวาคมปีที่แล้ว
ทีมวิจัยที่นำโดยฟรองซัวส์ บัลลูซ์ อธิบายในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Infection, Genetics and Evolution ว่า การประมาณการด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตยืนยันว่า การระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 เริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 6 ตุลาคม – 11 ธันวาคม 2019 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการระบาดสู่มนุษย์
บัลลูซ์กล่าวว่า ผลจากการวิเคราะห์พบว่าเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับเชื้อไวรัสทั่วไป และสัดส่วนขนาดใหญ่ของความหลากหลายทางพันธุกรรมสากลของเชื้อไวรัส ซึ่งก่อให้เกิดโรค COVID-19 ก็ถูกพบในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดทั่วโลกตั้งแต่ในระยะแรกแล้ว
การค้นพบของบัลลูซ์ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส
นอกจากนี้ การศึกษาเบื้องต้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่จำนวน 2 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในจีน และหนึ่งในนั้นมีความรุนแรงมากกว่า แต่ทว่าในการวิจัยครั้งที่สองโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งได้วิเคราะห์ตัวอย่างไวรัส พบว่างานวิจัยครั้งก่อนมีความคลาดเคลื่อน และมีไวรัสเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นในการระบาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้ป่วยในกว่า 210 ประเทศทั่วโลก หลังจากที่มีการระบุตัวผู้ป่วยครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2019
โจนาธาน สตอย หัวหน้าภาควิชาวิทยาไวรัสของสถาบันฟรานซิส คริก สหราชอาณาจักร กล่าวว่า การศึกษาด้านพันธุกรรมแสดงให้เห็นข้อมูลอันน่าทึ่งเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส และเน้นย้ำว่าไวรัสชนิดนี้เป็น “เป้าหมายที่เคลื่อนไหวโดยที่ยังไม่รู้จุดหมายปลายทางของวิวัฒนาการ”
ส่วนการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ พบว่ามีชายคนหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ก่อนที่ทางการจะยืนยันเคสผู้ป่วยรายแรก