TDRI เสนอแนวทาง “ทุบและคลาย” หวังหยุด COVID-19 ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนวทาง “ทุบและคลาย” หรือ “The Hammer and The Dance” ที่คิดค้นโดย Tomas Pueyo เป็นแนวทางในการใช้มาตรการเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศต่างๆ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การ “ทุบ” หรือมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด และการ “คลาย” คือการผ่อนคลายมาตรการบางส่วน เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
มาตรการ “ทุบ” หรือ The Hammer คือ มาตรการเข้มข้นที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งแต่ละประเทศจะมีมาตรการที่แตกต่างกันไปตามความจำเป็นหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรการเข้มข้นที่ใช้กันทั่วไปก็คือ การปรับสุขอนามัยส่วนบุคคลและเพิ่มระยะห่างทางกายภาพ เช่น การทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร ที่เรียกกันว่า social distancing การตรวจโรคและตามรอยผู้สัมผัสเชื้อ การจัดจุดตรวจอุณหภูมิในชุมชน การจัดกลไกเพิ่มประสิทธิภาพการกักโรคที่บ้าน การแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค การปิดสถานที่และงดกิจกรรมที่รวมตัวคนจำนวนมาก การจำกัดการเดินทางทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ และการห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด
ส่วนมาตรการ “คลาย” หรือ The Dance คือ การคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่จำเป็นบางส่วนไว้ และผ่อนคลายมาตรการบางส่วนลง เช่น การเปิดสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็น และสถานที่อื่นๆ ที่มั่นใจว่าจะควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เป็นอันตรายต่อการแพร่กระจายโรค เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไป และผู้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยได้ และการปิดสถานที่บางแห่ง หรืองดเว้นกิจกรรมบางอย่าง เช่น การปิดสถานบันเทิง งดการแข่งขันกีฬา งานประชุม งานกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีมาตรการบางอย่างควบคู่ไปด้วย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างในที่สาธารณะ หรือการออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม หากมีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างลง แต่โรค COVID-19 กลับระบาดอีกครั้งเป็นระลอกที่สอง รัฐก็จำเป็นต้องกลับไป “ทุบ” หรือใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง รวมทั้งต้องมีการติดตามสัญญาณเตือนด้านระบาดวิทยาในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เว็บไซต์ของ TDRI ยังระบุว่า อาจจะต้องมีการใช้แนวทาง “ทุบและคลาย” เช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 6 – 18 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้คนไม่น้อย ดังนั้น นอกจากจะต้องจัดการด้านระบาดวิทยาแล้ว รัฐยังต้องมองเห็นถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้คนในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนยากจน คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดหลักประกันพื้นฐานทางสังคม และเข้าไม่ถึงทรัพยากร รวมทั้งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการ “ทุบ” เพื่อนำไปสู่การวางแผนช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด
จากข้อเสนอดังกล่าว TDRI สรุปว่า เป้าหมายของแนวทาง “ทุบและคลาย” นี้ คือการทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือการระบาดโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ประชาชนรอดจากโรค COVID-19 แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองและการปิดกิจการต่างๆ ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายที่รัฐต้องมองให้เห็น จัดการ และให้การช่วยเหลือทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการที่มุ่งควบคุมการแพร่ระบาดเป็นสำคัญ