"สามารถ" เสนอแนวทางฟื้นฟูการบินไทย ยุบไทยสมายล์-เทขายหุ้นนกแอร์
(8 พ.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร เสนอแนวทางการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สถานะทางการเงินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีหนี้สะสม 244,899 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562) ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดการขาดทุนลง
ส่วนผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท.เกิดจากการดำเนินงานของตัวเอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ เฉพาะบริษัทที่บกท.ถือหุ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ มี 10 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัดที่บกท.ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ขาดทุนสะสมกว่า 8,000 ล้านบาท จึงถึงเวลาแล้วที่ บกท.จะต้องทุบโต๊ะหาทางจัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์
นายสามารถ ระบุอีกว่า บกท.จัดตั้งไทยสมายล์โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ จึงจัดวางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการที่เหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงขึ้น ดังนั้นค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ
แต่ในความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการจำนวนมาก มีการแข่งขันกันดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์ต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา แต่สุดท้ายกลับขาดทุนทุกปี ขณะที่บกท.ขาดทุนอุ้มไม่ไหว
โดยแนวทางที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ แนะนำการบินไทย มีดังนี้
- ยุบไทยสมายล์ ถ้าการบินไทยฯ เห็นว่าไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ และไม่จำเป็นจะต้องอาศัยไทยสมายล์ช่วยขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย ซึ่งจะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ปีละประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
- ควบรวมไทยสมายล์กับ บกท. ถ้าเห็นว่ายังจำเป็นต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย ซึ่งการควบรวมเป็นบริษัทเดียวจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท โดยเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับ บกท. ทำให้บกท.มีกำไรทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย อาทิ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งบกท.ถือหุ้น 13.28 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม ขณะที่นกแอร์มีผลประกอบการขาดทุนหลายปี บกท.จึงควรขายหุ้นทิ้งทั้งหมด
“ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ นกแอร์ และบริษัทย่อยอื่น บกท.จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาด คือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆนี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้ายจากทั้งหมด 10 แนวทาง ถ้าบกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี และรัก บกท.เท่าฟ้า” นายสามารถ ระบุ