หมอก็ตอบไม่ถูก! คนไข้ถามอยู่บ้านเดียวกัน นั่งรถด้วยกัน ทำไมไปร้านอาหารต้องแยกโต๊ะ
จากกรณี ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติให้เปิดบางสถานที่และบางกิจกรรม ที่ได้เคยมีประกาศสั่งปิดเป็นการชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ อาทิ ร้านอาหาร ร้านตัดผม สวนสาธารณะ สนามกีฬา แต่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่นั้นอาจถูกสั่งปิดชั่วคราวได้
อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารหลายร้านต่างขานรับมาตรการใหม่ เช่น ให้นั่งได้โต๊ะละ 1 คน แม้จะมาด้วยกันเป็นกลุ่มครอบครัว หรือบางร้านมีการนำพลาสติกมาทำเป็นฉากกั้น ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน ขณะที่สนามกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะกีฬาบางประเภทกลางแจ้งที่ผู้เล่นต้องมีระยะห่างทางสังคมและไม่คลุกคลีกัน เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู
ซึ่งล่าสุด นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ได้โพสต์ข้อความเล่าคำถามและความคิดเห็นของคนไข้ ที่มีต่อมาตรการผ่อนปรนดังกล่าว แต่หมอเองก็ไม่สามารถตอบคำถามได้
"ครอบครัวคนไข้ 4 คน ถาม วันหนึ่งๆ ก็อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวโต๊ะเดียวกัน นั่งรถคันเดียวกันมาตลอด
พอไปร้านอาหารให้นั่งโต๊ะละคน ขอไม่แยก จะเอาฉากใสมากั้นก็ได้...ได้ไหม? ปรากฎ ไม่ได้
หมอไม่ทราบจะบอกอย่างไร
มาถึงสนามเทนนิส ครอบครัวหนี่งมาด้วยกัน 4 คน ปกติเล่นคู่ แต่สนามให้เล่นเดี่ยว
คนเล่นเตรียมเฟซชีลด์มาพร้อมและหน้ากาก
หมอไม่ทราบจะบอกอย่างไร
หมูกระทะกลางแจ้ง กระทะ อยู่โต๊ะกลาง มีคนนั่งหนึ่งคนคอยจัดการกระทะ
อีก 4 คนไปนั่งห่าง 3 เมตร และใช้ที่คีบของตนเอง ได้มั้ย?
เรานั่งรถสาธารณะ ใกล้กว่านี้ ห้ามนั่งใกล้ แต่ยืนได้
หมอไม่ทราบจะบอกอย่างไร
การติด คือ วงจรใบหน้า และมือจับพื้นผิวมาใบหน้า"
อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวก็ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก โดยการปฏิบัติเหล่านี้นับเป็น New Normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ที่ประชาชนอาจจะยังรู้สึกฝืนและยังต้องปรับตัวกันไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการพยายามให้มี Social Distancing หรือรักษาระยะห่างเอาไว้ให้มากที่สุด และใช้แนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันแม้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
- เช็กด่วน! กทม.ขยายเวลาปิด 34 สถานที่เสี่ยงถึงสิ้นเดือน ที่ไหนผ่อนปรนเปิดได้บ้าง
- เปิดภาพ New Normal คนไทยกับวิถีชีวิตแบบใหม่แปลกตา ในยุคโควิด-19