ทัพเรือแจงได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่ามา 30 ปีแล้ว หลังเจอปูดจะใช้ตั้งฐานปกป้อง EEC

ทัพเรือแจงได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่ามา 30 ปีแล้ว หลังเจอปูดจะใช้ตั้งฐานปกป้อง EEC

ทัพเรือแจงได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่ามา 30 ปีแล้ว หลังเจอปูดจะใช้ตั้งฐานปกป้อง EEC
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือและโฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงต่อกรณีปรากฏข่าวสารการนำเอกสารของกองทัพเรือที่เสนอผ่านกรมป่าไม้ มาเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะ ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เกี่ยวกับที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางทหาร และบัญชีพิกัดเป้าหมายสำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติต่อการถูกโจมตีเป็นอันดับแรก เมื่อเกิดความไม่สงบ

จากการที่มีบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้รับทราบรับรู้ความเข้าใจอย่างครบถ้วน ต่อแนวนโยบายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ แล้วนำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน อย่างนั้น อย่างนี้ บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน นั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการละเมิด หรือการเปิดเผยความลับของทางราชการ เป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี กองทัพเรือขอขอบคุณสำหรับข้อห่วงใยที่ฝ่ายต่างๆ นำเสนอไว้ในข่าว

แต่ขอเรียนให้มั่นใจได้ว่า กองทัพเรือเอง ซึ่งก็เป็นหน่วยหนึ่งที่มีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขอดำเนินการใดๆ ที่ขัดแย้งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งบนบกและในทะเลที่กองทัพเรือได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับกรมป่าไม้ มาเป็นอย่างดีและต่อเนื่องมาโดยตลอด

อาทิ การที่กองทัพเรือได้จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรือรบ อากาศยาน อุปกรณ์สื่อสารบนบก/ในทะเล ระยะไกล การได้รับการมอบหมายให้เป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงบประมาณของกองทัพเรือ เพื่อใช้ในการดำเนินงานอนุรักษ์ป่าไม้

ความร่วมมืออื่นที่กองทัพเรือเข้าดำเนินการกับกรมป่าไม้มาอย่างแน่นแฟ้น ดังที่ปรากฏทางข่าวสารตลอดในหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้แก่ การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ทั้งบนบก ตามแนวชายฝั่ง และบนเกาะในทะเล การป้องกันและบรรเทาพิบัติภัยธรรมชาติ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การป้องกันและควบคุมไฟป่า ตั้งแต่การใช้อากาศยานของกองทัพเรือแบบ CL-215 บุกเบิกการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาอย่างได้ผลดียิ่งมาแต่อดีต จนถึงปัจจุบันที่ได้นำเฮลิคอปเตอร์แบบ Sea Hawk มาใช้แทนในปัจจุบัน

“กองทัพเรือ ขอเรียนย้ำให้ทราบว่าที่มีหนังสือไปตามข่าวที่ปรากฏนั้น ก็เพราะที่เคยขอใช้ประโยชน์พื้นที่ฯ ไว้เดิมจะหมดอายุ ซึ่งก็เป็นการดำเนินการทางธุรการในการขอใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลมาแต่อดีต จึงไม่ใช่จะนำมาปกป้อง EEC เพราะต่อให้ไม่มี EEC กองทัพเรือก็ต้องมีหน่วยป้องกันสนามบินอู่ตะเภาซึ่งเป็นสนามบินของ ทร. เหมือนกับ ทอ. ที่ต้องมีหน่วยทหารต่อสู้อากาศยาน ทำหน้าที่ป้องกันสนามบินต่างๆ” พล.ร.ท.ประชาชาติ ระบุ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทร.ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่านี้มา 30 ปีแล้ว ในการซ่อนพรางหน่วย ซ่อนพรางยุทโธปกรณ์ และเป็นพื้นที่ฝึกป้องกันภัยทางอากาศให้แก่สนามบินอู่ตะเภา

และในส่วนที่ขอเพิ่มนั้น เนื่องจากความจำเป็นด้านนิรภัยการบิน ในการก่อสร้างรันเวย์หมายเลข 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งสัมพันธ์กับความสูงและเนื้อที่ขอบเขตของเขาโกรกตะแบก ซึ่งตั้งประชิดอยู่บริเวณหัวรันเวย์

rtn-eec-forest-map

ด้วยข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่ได้ชี้แจงมาแล้วข้างต้น กองทัพเรือใคร่ขอให้การเสนอข่าว หรือให้ความคิดเห็นของทุกฝ่าย ที่ปรารถนาดี และโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปให้กรุณารับฟังจากผลการพิจารณา ตามกระบวนการของทางราชการ ซึ่งจะประกอบไปด้วยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคง และนโยบายของรัฐบาลที่เป็นชั้นความลับ ไม่สมควรนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันบนสื่อสาธารณะ จนอาจเกิดการละเมิด หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติหน้าที่ของ ทร. ที่ผ่านมาได้ยึดมั่นต่อการดำเนินการเพื่อประเทศชาติและประชาชน ยืนเคียงข้างประชาชนมาเช่นไร ปัจจุบันและอนาคตก็จะเป็นเช่นนั้นให้สมกับอุดมการณ์ของกำลังพล ทร. ยึดถือเสมอมา คือ กองทัพเรือเป็นกองทัพที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา ออกแถลงการณ์ในนามของนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง คัดค้านการยกพื้นที่ป่าสงวนฯ 4,600 ไร่ไปเอื้อประโยชน์ให้กองทัพเรือ โดยมีเนื้อหาว่า

ตามที่กองทัพเรือทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด, ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก บริเวณพื้นที่เขาโกรกตะแบกและเขาเนินกระปรอก ในท้องที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง และ ต.สำนักกะท้อน ต.บ้านฉาง ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อจัดทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และบริเวณใกล้เคียง และเป็นที่ตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,600 ไร่นั้น

พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้พื้นถิ่นที่ประชาชนโดยรอบพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เสมือนเป็นป่าชุมชน ในการเก็บเห็ด เก็บสมุนไพร ฯลฯ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งสันทนาการที่เป็นกำแพงกรองมลพิษในวิถีชนบทของคนระยองเสมอมา การที่กองทัพเรือจะชุบมือเปิบขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจาก 2,558 ไร่เป็น 4,600 ไร่ โดยอ้างการป้องกันอีอีซีและนิคมมาบตาพุดนั้น กองทัพเรือเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า เพราะพื้นที่เหล่านี้อยู่บนบก ไม่ใช่พื้นที่ชายแดนหรือชายทะเล และไม่เคยมีปัญหาด้านความมั่นคง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจไม่ใช่พื้นที่สงครามความขัดแย้ง ที่จะมีข้าศึกที่ไหนบุกมายึดอีอีซีหรือนิคมมาบตาพุด จนต้องมีค่ายทหารมาคอยปกป้อง

หากจะมีปัญหาก็มีแต่ปัญหาอาชญากรรมธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ไม่ใช่ทหาร และที่สำคัญกองทัพเรือก็มีฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมากมายเกินพออยู่แล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพเรือก็มีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนหลายพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งที่ชุมชนแสมสาร หรือที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว

การรุกคืบเข้ามาขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จ.ระยอง ดังกล่าว หรือเพียงแค่ต้องการขยายฐานอำนาจ ขยายตำแหน่งของเหล่าทหารเรือ หรือต้องการขอเพิ่มงบประมาณจากภาษีของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นกันแน่

ทั้งนี้ กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีจุดยืนในการปกป้องป่าไม้ตามแนวนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 6 พ.ย. 62 ซึ่งเน้นการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปกป้องดูแลป่า แต่ถ้ายกพื้นที่ป่าดังกล่าวให้กองทัพเรือไปใช้ประโยชน์ได้ตามคำขอ แนวนโยบายป่าไม้แห่งชาติก็จะไร้ความหมายและควรฉีกทิ้งไปเสีย แล้วให้กองทัพเรือไปยกร่างเขียนใหม่ แล้วนำไปบังคับใช้กันเองตามสะดวก

แต่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวระยองจะไม่ยอมศิโรราบกับกรณีดังกล่าว โดยจะขอพึ่งอำนาจศาลปกครองเป็นประการต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook