ใต้แผ่นดินกทม.อาณาจักรหนูแพร่กาฬโรค สัตวแพทย์เตือนระวัง"แมว"พาหะสำคัญ
จุฬาฯ ชี้ใต้แผ่นดิน กทม.เป็นอาณาจักรหนูแหล่งแพร่เชื้อกาฬโรค แนะประชาชนรักษาความสะอาดกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค ขณะที่สัตวแพทย์เตือนเจ้าของหมา แมวอย่าปล่อยปละ เร่งกำจัดหมัดบนตัวสัตว์ โดยเฉพาะแมวอาจเป็นพาหะสำคัญใกล้ชิดหนูนำเชื้อสู่คน แต่สรุปไม่ต้องแตกตื่น เพราะเชื้อยังมาไม่ถึงไทย
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เวลา 13.30 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เพื่อประชาคม ครั้งที่ 3 เรื่อง "กาฬโรค...โรคร้ายที่กำลังจะกลับมา...จริงหรือ?!" โดยมี รศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อ.พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ รศ.ดร.สมหญิง ธัมวาสร ภาควิชาจุลชีววิทยา รศ.นพ.ดร.เผด็จ สิริยะเสถียร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ผศ.น.สพ.ดร.สนธยา เตียวศิริทรัพย์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ อ.ภก.ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ เข้าร่วม โดย รศ.นพ.ดร.นรินทร์กล่าวว่า จากข่าวการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคปอดที่มีการแพร่ระบาดในประเทศจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และที่ผ่านมามีรายงานการกระจายไปทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยไม่พบการระบาดของเชื้อกาฬโรคปอด ที่ผ่านมาเชื้อกาฬโรคพบในประเทศไทย พ.ศ.2495 ซึ่งนานเกือบ 60 ปีแล้ว และหากมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเชื้อนี้สามารถใช้ยาปฏิชีวนะธรรมดาที่ประเทศไทยมีอยู่รักษาได้ แต่อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่าต้องรักษาความสะอาดภายในบ้านไม่ให้มีหนูหรือสิ่งสกปรก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งใต้แผ่นดิน กทม.คืออาณาจักรของหนูที่ชุกชุมมาก
ผศ.น.สพ.ดร.สนธยา กล่าวว่า กาฬโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีในหมัดหนู ซึ่งอาศัยอยู่กับหนูที่เป็นโรค และหมัดซึ่งเป็นสัตว์กินเลือดจะได้รับเชื้อโดยตรง โดยหมัดที่กัดจะปล่อยเชื้อเข้าทางบาดแผล ซึ่งจากรายงานพบว่าหมัดหนูเป็นพาหะหลักในการนำเชื้อชนิดนี้ แต่ขณะเดียวกันรายงานยังพบว่า หมัดที่อยู่บนตัวสุนัขและแมวก็สามารถเป็นพาหะได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่แต่กาฬโรคเท่านั้น แต่ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ และโรคเหล่านี้เองที่จะกลายเป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ในอนาคต และที่น่าห่วงอีกคือ ผู้ที่ทำงานในปศุสัตว์ที่ต้องสัมผัสเลือดวัวเลือดควาย ซึ่งวัวควายอาจได้รับเชื้อ แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากผู้ที่ทำงานในปศุสัตว์หรือโรงเชือดไปสัมผัสเลือดสัตว์เหล่านี้ในขณะที่มือมีบาดแผลก็จะทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้
"สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวอยากให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดหมัดที่อยู่บนตัวสัตว์ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะแมวซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบไล่ล่าหนูและเป็นสัตว์ที่มีหมัดเยอะจึงอาจเป็นพาหะนำเชื้อได้ ดังนั้นเจ้าของจึงควรสนใจสัตว์เลี้ยงของตนเองเป็นพิเศษ ส่วนการสังเกตอาการที่เกิดกับแมว เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต ยิ่งถ้าแมวไปกัดหนูโดยตรงยิ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 100% ส่วนผู้ที่เลี้ยงแมวนั้นจะติดเชื้อได้หากสัมผัสน้ำลาย เช่น จากการเลีย หรือโดนแมวกัด แมวข่วน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีหนูนาซึ่งเป็นที่นิยมรับประทาน ช่วงนี้ควรงดเว้น เพราะถือว่าอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง" ผศ.น.สพ.ดร.สนธยา กล่าว
ด้าน อ.พญ.เลลานี กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยเจอโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว และไม่ใช่โรคที่ติดต่อได้ง่าย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยทั้งในคนและสัตว์ แต่หากพบจะต้องรีบรักษาภายใน 24 ชั่วโมง จึงจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ส่วนการติดต่อนั้นจะเกิดจากการสัมผัสกับซากสัตว์ เนื้อเยื่อของสัตว์ที่ตายแล้ว หรืออยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อในระยะ 6 ฟุต
สำหรับอาการของโรคกาฬโรค ถ้าเป็นกาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลืองจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ รักแร้ หรือรอบคออักเสบ โดยเชื้อกาฬโรคที่อยู่ในกระแสเลือดจะติดเชื้อจากต่อมน้ำเหลืองลงสู่กระแสโลหิต ส่วนกาฬโรคที่เป็นตรงเยื่อหุ้มสมอง อาการเป็นไข้สูง การมีสติรับรู้น้อยลง ส่วนกาฬโรคปอดเป็นอาการแทรกซ้อนของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง มีความรุนแรงมาก เนื่องจากเชื้อมีการกระจายเข้าสู่กระแสโลหิตและเข้าสู่ปอดด้วย จะมีอาการเฉียบพลันคือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง อาการไอเกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมง เสมหะตอนแรกเหนียวใส แล้วกลายเป็นสีสนิมหรือแดงสด ถ้าไม่รักษาจะเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง และสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นในวงกว้าง ผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสียชีวิตในที่สุด